วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551

โง่ได้ แต่อย่าชั่ว

คำพูดที่ว่า "หมอโง่ได้ แต่อย่าชั่ว" เป็นคำพูดที่นักศึกษาแพทย์จะได้ยินกันหลายครั้งมาก ในช่วงของการรับน้อง โดยเฉพาะช่วงปลูกฝังอุดมการณ์เพื่อสังคม อย่างการว้าก หรือการอบรม และแน่นอนว่าคำพูดนี่ถูกใจบรรดานักศึกษาใหม่ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความฝัน และความหวังที่จะได้ทำอะไรดีๆเพื่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง

แต่ถ้าพิจารณาดูให้ดีๆแล้ว ประโยคสั้นๆประโยคนี่มีความนัยที่ซ่อนอยู่หลายอย่าง ซึ่งทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าประโยคนี่เป็นเพียงประโยค "พูดเอามัน" เท่านั้น

ความหมายของคำว่าชั่ว
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าพอพูดประโยคนี้แล้วรู้สึกมันในอารมณ์ก็เป็นเพราะมีคำว่าชั่วอยู่ในประโยคนี่แหละ คำว่าชั่วนี้ดูชัดเจนดี สั้นๆ ดิบๆ หมายถึงความไม่ดี ไม่งาม เลวร้าย ย่ำแย่ เวลาจะพูดโจมตีใครก็ต้องเอาคำคำนี้ไปพูดเสียหน่อย เช่น รัฐบาลชั่ว นักการเมืองชั่ว ซึ่งก็น่าสนใจว่าคำว่าชั่วที่ว่านี้ กินความขนาดไหน การทุจริต คอรัปชั่น โกงกินบ้านเมือง การกระทำอนาจาร ฆ่าผู้อื่น นี่คือตัวอย่างของความชั่วที่เห็นได้ชัด แต่ผู้เขียนอยากจะตั้งคำถามว่าการกระทำเหล่านี้จะถือว่าเป็นความชั่วด้วยหรือไม่ การขี้เกียจเรียนหนังสือ การทุจริตโดยการลอกรายงาน การลอกข้อสอบ การรับผลประโยชน์จากบริษัทยา การประพฤติตนเป็นชนชั้นศักดินา ฯลฯ

ความหมายของคำว่าโง่
คำว่าโง่ ในความหมายของคนทั่วๆไป มักจะเข้าใจว่ามีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ๑ ความไม่รู้ในเนื้อหาทางวิชาการ ๒ ความเบาปัญญา ไม่สามารถพิจารณาเรื่องราวต่างๆได้อย่างซับซ้อน ในที่นี่คำว่าโง่คงเป็นความหมายอันแรก โดยรวมก็จะสรุปได้ความว่าหมอสามารถขาดความรู้ทางวิชาการได้ ถ้าหมอเป็นคนดี (คือไม่ชั่ว)

ความรู้มีมากมาย ไม่สามารถรู้ได้หมด
เพื่อความเป็นธรรม ความจริงแล้วความรู้ทางการแพทย์นั้นมีมากมายเหลือคณานับ จึงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่คนธรรมดาๆจะสามารถรู้ครอบคลุมไปได้หมด แต่ประเด็นที่ผู้เขียนอยากจะชี้คือ การเป็นคนดีสามารถเป็นข้ออ้างให้กับความไม่รู้นั้นได้หรือไม่? ความไม่รู้นั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร? ถ้าเป็นคนดีตั้งใจขยันเรียน จะทำให้รู้ความรู้นั้นหรือไม่? ความชั่วที่ว่ามาคือการกระทำระหว่างเรียน หรือระหว่างทำงาน หรือทั้งสองเวลา? อีกประเด็นหนึ่งที่น่าคิด คือการพูดแบบนี้กันมากๆเวลามีความผิดพลาดเกิดขึ้น ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ามันเป็นเพียงการแก้ตัว การหาข้ออ้าง โดยไม่จำเป็นหรือเปล่า แทนที่จะมาหาว่าความผิดพลาดเกิดจากอะไร กลับสรุปว่าเราเป็นคนดีแล้ว เท่านั้นหรือ...

โง่ได้แต่อย่าชั่ว เพราะจะไม่มีใครทำอะไรคุณได้
เพราะคุณฉลาด เพราะคุณอยู่ในสถานะที่ไม่มีใครทำอะไรคุณได้ คนอื่นก็ต้องพึ่งพาคุณ ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย อย่างที่ใครคนหนึ่งเคยว่าไว้ว่าสังคมไทยอยู่กับที่ส่วนหนึ่ง เพราะระบบอุปถัมภ์ ซึ่งวงการแพทย์เองก็ไม่มีข้อยกเว้น ผู้เขียนคิดว่าโจทย์สำคัญข้อหนึ่งคือ วงการแพทย์จะสามารถก้าวพ้นวิกฤติศรัทธาจากคนในสังคมปัจจุบันได้อย่างไร ผู้เขียนคิดว่าทางหนึ่งที่พอจะแก้ปัญหาได้คือการกำจัดระบบอุปถัมภ์ โดยการให้ความมั่นใจกับสังคมว่า คนชั่วในวงการแพทย์จะต้องได้รับการกำจัดอย่างเด็ดขาด โดยผ่านการกระบวนการบังคับ หรือสภาพบังคับที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถให้คำตอบกับสังคมได้ ตามหลักการรัฐสมัยใหม่ที่ประชาชนจะต้องได้รับการคุ้มครอง มีสิทธิ เสรีภาพอย่างที่พึงมีพึงได้

ถ้าไม่ชั่ว ก็คงไม่โง่มากนัก
อย่างที่ว่ามา ความรู้วิชาแพทย์นั้นกว้างขวางและเกิดใหม่ทุกวัน ผู้เขียนเชื่อว่าแพทย์เองไม่ต้องเป็นคนดีมากนัก แต่ด้วยความเป็นแพทย์ ความอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ จะทำให้แพทย์มีแรงผลักดันตนเอง ให้พ้นจากความโง่ได้ในที่สุด เพื่อที่พวกเราจะได้ไม่ต้องมาพร่ำบอกรุ่นน้องว่า "หมอโง่ได้..." ต่อไปอีก

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ความฝัน ความโง่

เพื่อนผู้เขียนคนหนึ่งเคยเอ่ยว่า
"การทำตามความฝันเป็นเรื่องโง่ๆ"

เป็นคำพูดเสียดสีที่ได้ผลอย่างมาก ในแง่ความต้องการเสียดสี
สำหรับคนในวัยหนุ่มสาว ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งที่เรียกว่า"พลังหนุ่มสาว"
ความฝันเป็นสิ่งสวยงาม เป็นเป้าหมายของชีวิตที่หลายคนอยากไปให้ถึง
บางคนฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์
บางคนฝันอยากเป็นครู
บางคนฝันอยากเป็นเศรษฐี (ผู้ใจบุญ)
บางคนฝันอยากเป็นนายกฯ...

ความฝันจึงเป็นสิ่งที่ให้ความรู้สึกด้านบวก
ในขณะที่ความโง่....
คือคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ
คือคนที่ทำอะไรแบบไม่คิด
คือคนที่ทำให้ชีวิตตัวเองล้มเหลวพลาดพลั้ง
คือให้ความรู้สึกเป็นลบ....

คำสองคำนี้จึงไม่น่ามาอยู่ด้วยกันได้....

แต่เมื่อพิจารณาดีๆ
ในบริบทของสังคมไทย (หรือไทยๆ)
การทำตามความฝันมันช่างเป็นเรื่องที่ทำได้ยากจริงๆ
เมื่อคนคนหนึ่งพยายามทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
คนคนนั้นก็คือ "คนโง่"

ทำไมหล่ะ ทำตามความฝันมันยากตรงไหน
ก็ถ้าคนคนนั้นเกิดมีความฝันที่ทำได้ง่ายๆ
เช่น เป็นคนดีของพ่อ เป็นคนขายประกัน
การทำตามความฝันก็ไม่ใช่เรื่องยาก

ปัญหานี้มักจะเกิดกับคนที่ดันฝันในสิ่งที่ทำได้ยากขึ้นมา
คำว่าทำได้ยากในที่นี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะข้อจำกัดทางด้านกายภาพ
แต่หมายรวมถึงข้อจำกัดทางด้านสังคม
ที่สำคัญที่สุดคือเรื่อง"รายได้"
ค่าครองชีพที่พุ่งทะยานอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นข้อจำกัดที่สำคัญในการทำตามความฝัน
ฝันอยากเป็นนักฟุตบอลระดับโลก ต้องเริ่มจากการไปเป็นนักฟุตบอลของสโมสรกุยบุรี
....ผู้เขียนไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเงินเดือนของนักฟุตบอลอาชีพในประเทศไทยเป็นเท่าไหร่

นอกจากนี้ยังรวมถึงคนที่ฝันหลายอย่าง
ฝันอยากทำอาชีพที่ได้เงินเดือนน้อย แต่ก็อยากอยู่บ้านแลนด์แอนด์เฮ้าส์ อยากคลอดโดยการผ่าตัดทางหน้าท้องที่โรงพยาบาลระดับบำรุงราษฎร์ อยากส่งลูกไปเรียนโรงเรียนอินเตอร์...
แต่ทางแก้ของคนที่ฝันประเภทนี้ไม่ยาก แค่เลือกเอาความฝันที่พอทำได้เป็นเป้าหมาย แล้วทำให้เสร็จเป็นอย่างๆไป ชีวิตก็คงมีความหวังขึ้นมาบ้าง....

หลังจากที่คิดมานาน ข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคก็การทำความฝันคือ
"เงิน" และ "เวลา"

เมื่อมีปัญหา ก็ต้องมีแนวทางการแก้ไข
แนวทางการแก้ไขก็คือ
"การดำรงชีวิตการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"

วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ผู้ชายเจาะหู และซอมอตอ

วันนี้นั่งนึกๆดู
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทัศนคติของผู้เขียนได้เปลี่ยนไปหลายอย่าง
ยกตัวอย่างเช่น

เรื่องผู้ชายเจาะหู
เมื่อก่อนผู้เขียนไม่ชอบผู้ชายที่เจาะหูและใส่ต่างหูเป็นอย่างมาก เพราะ เป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิง ดูเหมือนตุ๊ด และอื่นๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นนักศึกษาแพทย์ จะยิ่งเพิ่มดีกรีความเกลียด เพราะ ลักษณะที่พึงประสงค์ของแพทย์คือความภูมิฐาน ความปรกติ เป็นระเบียบ และเรียบร้อย
แต่ทุกวันนี้ผู้เขียนกลับรู้สึกเฉยๆ เมื่อเดินผ่านนักศึกษาแพทย์ชายที่เจาะหู และกลับคิดว่าเป็นสิทธิของเขา.... ถ้าเขาอยากใส่ เขาก็ควรจะได้ใส่ แต่เขาก็ต้องพร้อมที่จะรับผลการกระทำของตัวเขาเอง เช่น การถูกหมอคนอื่นๆ และคนไข้มองด้วยสายตาที่ไม่ปรกติ และพร้อมรับการลงโทษ ถ้าคณะแพทย์ฯออกกฎว่าผู้ชายห้ามใส่ต่างหู...

เรื่องของซูโม่ตู้
ช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับซูโม่ตู้ เรื่องทอล์คโชว์ของเขา และบทสัมภาษณ์เผยแพร่ในอินเตอร์เนต
อ่านได้ที่ http://www.thaingo.org/webboard/view.php?id=13478
เมื่อก่อนตอนเด็กๆ ผู้เขียนก็รู้สึกคล้ายๆซูโม่ตู้อยู่บ้าง
ความรู้สึกแบบชนชั้นกลางที่คิดว่าตัวเองรู้ทุกอย่าง
แต่มาวันนี้ พอได้อ่านคำสัมภาษณ์ของซอมอตอแล้ว
รู้สึกน่ารำคาญ และน่าโมโหจริงๆ....

วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ข้อเสนอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๑

เรียน ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๔๒๒ ถนนพญาไท แขวงวังใหม่
เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ๑๐๓๓๐

เรื่อง: ข้อเสนอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ความรุนแรงจากการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่หน้ารัฐสภา โดยมีนายสุรสีห์ โกศลนาวิน เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ภายใต้อำนาจหน้าที่ของ กสม.

กลุ่มประชาชนผู้ห่วงใยประเทศไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการของนักกิจกรรม นักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนที่ได้ติดตามสถานการณ์การเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการจัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ดังกล่าว และขอแสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้องดังนี้:

๑.คณะอนุกรรมการฯ ต้องดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่การละเมิดสิทธิฯโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการกระทำของกลุ่ม พธม. ด้วย โดยอาศัยหลักการของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง (ICCPR) ที่รัฐบาลไทยได้ให้การภาคยานุวัติเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๙ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติและมีความเอนเอียงทางการเมือง เนื่องจากได้มีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นเดียวกัน เช่น:
·กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายถูกผู้ชุมนุมกลุ่มพธม.ใช้ด้ามธงแทงเข้าจนทะลุปอด ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส
·กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกยิงจนบาดเจ็บสาหัส
·กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกผู้ชุมนุมขับรถชนหลายนาย
·กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ถูกผู้ชุมนุมรุมทำร้ายทุบตีร่างกายและศีรษะจนสมองบวม
เป็นต้น

๒.คณะอนุกรรมการฯ ต้องดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกลุ่มพธม.ที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ด้วย ทั้งนี้ อาจจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาโดยเฉพาะ หรือขยายบทบาทหน้าที่ (mandate) ของคณะอนุกรรมการฯ นี้ก็ได้ โดยจะต้องดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย:
·การปะทะกันที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่ม พธม. และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๑ โดยเฉพาะการเสียชีวิตของณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสงและการบาดเจ็บของทั้งสองฝ่าย ซึ่งในกรณีนี้ ควรตรวจสอบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกลุ่มพธม. หรือกลุ่มนปช. หรือทั้งสองฝ่ายหรือไม่ ว่าเป็นการละเมิดสิทธิภายใต้มาตรา 6 ของ ICCPR ที่ว่า “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตมาแต่กำเนิด...บุคคลจะต้องไม่ถูกทำให้เสียชีวิตโดยอำเภอใจ” หรือไม่
·การที่ พธม. กล่าวปราศรัย และใช้พื้นที่สื่อในเครือผู้จัดการบิดเบือนข้อมูล โจมตีทำลายชื่อเสียง และสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นต่อนักกิจกรรม นักวิชาการ และนักสหภาพแรงงาน ที่มีความคิดเห็นและ/หรือข้อเสนอทางการเมืองต่างจากของกลุ่ม พธม. (อาทิ กรณี รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ จอน อึ๊งภากรณ์ รศ.ดร.โคทม อารียา ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล โชติศักดิ์ อ่อนสูง จิตรา คชเดช สมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นต้น) อันเป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ ในบางกรณีได้มีการเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงต่อคนเหล่านั้นอีกด้วย ถือเป็นการขัดต่อข้อ 19 ของ ICCPR ที่ว่า “การใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกมีข้อจำกัด ในการเคารพสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่น” และ ข้อ 20 ข้อย่อย 2 ที่ว่า “การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในชาติ เผ่าพันธุ์ หรือ ...ซึ่งยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การเป็นฏิปักษ์หรือการใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย”
·การบุกยึดทำเนียบรัฐบาลและสถานีโทรทัศน์ NBT การปิดล้อมรัฐสภา ตลอดจนการชุมนุมโดยมีอาวุธในครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นมีด หนังสติ๊ก ท่อเหล็ก ปืน หลาย ๆ กรณี ของพธม. รวมทั้งวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ตามที่ปรากฏในรายงานข่าวทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เนื่องจากตามมาตรา 21 ของ ICCPR ที่ว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับความคุ้มครอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจาก ... เพื่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่สามารถทำได้ ถ้าเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น

ทางกลุ่มฯ ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นเสาหลักในการเสริมสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชน ตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ปรากฏในหลักการปารีส (Paris Principles)

ที่สำคัญ กลุ่มฯ ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคอยเฝ้าระวังและตรวจสอบการกระทำของทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ ทั้งนี้ เพื่อสร้างสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง

ขอแสดงความนับถือ

วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2551

แถลงการณ์ประณามการเลือกปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจของกลุ่มแพทย์ฯ

ตามที่มีรายงานข่าวว่ากลุ่มอาจารย์แพทย์ พยาบาล และแพทย์ประจำบ้านของโรงเรียนแพทย์ 8 สถาบัน รวมถึงคณะจิตแพทย์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ได้ประกาศงดการตรวจและรักษาเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเป็นการใช้ “มาตรการทางสังคม” แสดงความไม่เห็นด้วยต่อวิธีการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมานั้น

องค์กรสิทธิมนุษยชนและผู้มีรายนามด้านล่างนี้ ขอประณามการตัดสินใจดังกล่าวเนื่องจากเป็นการขัดหลักสิทธิมนุษยชนและหลักจรรยาบรรณแพทย์อย่างร้ายแรง

การกระทำดังกล่าว ไม่เพียงเป็นการละเมิดหลักจรรยาบรรณแพทย์ที่เน้นประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย เท่านั้น หากยังละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองไว้ในทั้งกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ซึ่งได้ประกันว่าสิทธิในชีวิตและสิทธิในการได้รับการบริการทางสาธารณสุขเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิดังกล่าวนี้อยู่บนพื้นฐานหลักการที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของการใช้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนทั้งปวง คือ หลักการไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าบนพื้นฐานใด ๆ ไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น เผ่าพันธุ์ แห่งชาติ หรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นๆ

และแม้แต่กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Laws) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้กำกับการปฏิบัติของรัฐและผู้เกี่ยวข้องในภาวะสงคราม ที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นรัฐภาคีมาตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2497 นั้น ยังรับประกันสิทธิของผู้ได้รับบาดเจ็บในการได้รับการรักษาและดูแลทางการแพทย์ รวมถึงการได้รับการรักษาจากฝ่ายคู่กรณีของความขัดแย้ง

ด้วยหลักการต่าง ๆ ข้างต้น การปฏิเสธการให้การรักษาแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะในภาวะความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ถูกทำร้ายโดยฝ่ายผู้ชุมนุมเช่นกันนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ การแจ้งว่าตำรวจสามารถรับการรักษาได้หากไม่ได้แต่งชุดเครื่องแบบเจ้าหน้าที่หรือไม่ได้แจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากจะมิไช่เป็นหนทางออกจากสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ยังตอกย้ำการเลือกปฏิบัติ อันจะส่งผลให้ชีวิตและสุขภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีศักดิ์และสิทธิเช่นเดียวกับผู้ป่วยคนอื่นๆตกอยู่ในความเสี่ยงได้

เราจึงขอเรียกร้องดังนี้

1. ให้สถาบันทางการแพทย์ต่าง ๆ เคารพและยึดถือหลักการไม่เลือกปฏิบัติ หลักสิทธิมนุษยชน และจรรยาบรรณแพทย์ ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน และดำเนินมาตรการทางวินัยต่อผู้ที่ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามหลักการดังกล่าว

2. ให้แพทยสภาและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าตรวจสอบและดำเนินการตรวจสอบจริยธรรมและมาตรฐานทางการแพทย์ของกลุ่มแพทย์ดังกล่าวโดยทันที

ด้วยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความแตกต่างของความคิดเห็นทางการเมืองและความรุนแรงที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากนั้น จะไม่ทำให้สังคมไทยละเลยการเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2551

บันทึกเดือนตุลาคม

วันนี้วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๑
ช่วง ๒-๓ ที่ผ่านมามีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้น
ผู้เขียนจึงอยากบันทึกไว้กันลืม

-พลตรีจำลองถูกจับกุมข้อหากบฎขณะไปเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพฯ
-กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคลื่อนขบวนไปหน้ารัฐสภาเพื่อขัดขวางการแถลงนโยบายของรัฐบาล
-เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเช้าวันที่ ๗ ตุลาคม
-มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา
-มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากระเบิด
-มีตำรวจได้รับบาดเจ็บจากการถูกรถทับ และธงแทงหน้าอก
-กลุ่มพันธมิตรฯยืนยันให้รัฐบาลลาออกภายใน ๑๘.๐๐ น.วันที่ ๗ ตุลาคม
-เวลา ๑๘.๐๐ น.มีแต่ความเงียบ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
-มีรถระเบิดหน้าที่ทำการพรรคชาติไทย มีผู้เสียชีวิต
-มีเหตุการณ์ปะทะกันหน้าบชน.มีผู้เสียชีวิตเป็นนักศึกษาจากเอแบค
-นักวิชาการ NGO สื่อต่างพากันโจมตีรัฐบาลและตำรวจ
-แพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯประกาศไม่รับรักษาตำรวจ
-สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวน ๑ แสนบาท ให้โรงพยาบาลวชิรพยาบาลเพื่อรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บ
และอีก ๒ แสนบาทในวันถัดมา

วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2551

สถาบันอาจารย์มหาวิทยาลัย

โดย แดง ไบเลย์ เขียนเมื่อประมาณปี ๒๕๒๕

ในเมืองไทยเรานั้น มีการกล่าวขวัญถึงสถาบันต่างๆ แทบจะหมดทุกสถาบันแล้วตั้งแต่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย เผด็จการ ทหารพลเรือน ข้าราชการ นายทุน กรรมกร นักธุรกิจ ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ นักหนังสือพิมพ์ นักเรียน นักศึกษา นักการเมือง ฯลฯ ยังเหลืออีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีใครแตะต้องกันนัก นั่นคือ อาจารย์มหาวิทยาลัย

เนื่องจากสถาบันอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญยิ่งกลุ่มหนึ่ง สำหรับนักศึกษา เพราะหากขาดอาจารย์เสียแล้วมหาวิทยาลัยก็ไม่เป็นมหาวิทยาลัย จึงใคร่จักกล่าวถึงคนกลุ่มนี้ สักเล็กน้อย พอหอมปากหอมคอ

ขอแนะนำให้นักศึกษาใหม่ รู้จักกับพวกเขาก่อนเป็นเบื้องแรก : เขาคือใคร ?

๑. เขาเป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ

๒. เขาต่างจากข้าราชการพลเรือนอื่นๆ ตรงที่สามารถเลื่อนชั้นขั้นตอนได้คล่องกว่า เขามีเวลาการทำงานที่ flexible มาก ตลอดจนมีฮอลิเดย์อันยาวนาน

๓. ระบบการบังคับบัญชา และการวัดผลงานของพวกเขาหละหลวม กว่าระบบการบังคับบัญชา และวัดผลงานข้าราชการพลเรือนอื่นๆ

๔. เขามีหน้าที่ให้บริการทางวิชาการ คือ การสอนหนังสือ เป็นเบื้องแรก การวางระบบการเรียนการสอนและการบริหารวิทยาลัยเป็นเบื้องสอง

๕. นอกจากนี้ เขาก็ไปวิ่งรอกหากิน ด้วยการสอนกวดวิชา สอนพิเศษ ทำงานกับธุรกิจเอกชนบ้าง แต่ยังไม่เคยเห็นที่ขายทัปเป้อร์แวร์ หรือรับเป็นพิธีกรทัปเป้อร์แวร์

๖. เขาได้รับการยกย่อง จากสังคมอย่างมากพอสมควรตลอดจนยกย่องกันไปยกย่องกันมาในหมู่พวกเดียวกันอีกด้วยโดยใช้สรรพนาม เรียกกันไปเรียกกันมาว่า “อาจารย์” เช่น “แหม, วันนี้อาจารย์ดอกท้อ หน้าตาไม่สบายเลย ทั้งๆ ที่เพิ่งพาอาซ้อไปทัวร์ยุโรปมาหยกๆ” อาจารย์ไขลูกล่าว อาจารย์ดอกท้อตอบว่า “อาจารย์ไขลู ไม่ทราบหรือคะ ว่าหมู่นี้เดี๊ยนแองเชียสม้ากมาก มีเทนชั่นตบตีกันเพราะ แย่งกันสอนซัมเมอร์ค้า”

ความสำคัญผิดของนักศึกษาที่มีต่ออาจารย์ และสมควรแก้ไข

๑. นักศึกษาใหม่ส่วนมาก นึกว่าอาจารย์เป็นบุคคลพิเศษอันทรงความรู้ ความคิด ข้อเท็จจริงคือ อาจารย์ส่วนมากมิได้เป็นเช่นนั้น ตรงกันข้าม อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนมาก เป็นผู้มีความรู้ความคิดเพียงแคบๆ เฉพาะในสาขาวิชาของตนเท่านั้น อย่าหวังอะไรมากไปกว่านั้น

๒. นักศึกษาอาจคิดว่า อาจารย์คือผู้หยั่งรู้โลกและสังคม ข้อเท็จจริงคือ อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนมาก เป็นผู้ขาดประสพการณ์ชีวิตและขาดความรู้อันเกิดจากการได้สัมผัสกับความเป็นจริงในสังคม อาจารย์พูดถึงสังคมเหมือนกำลังพูดถึงสิ่งเลื่อนลอยบางอย่าง

๓. โปรดระลึกไว้เสมอว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนมาก สอนหนังสือไม่เป็นและมักจะบ่นว่าตามตำรา ตามตัวอักษร มากกว่าที่จะพยายามถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้น ด้วยวิธีการอันจะสร้างความเข้าใจให้เกิดแก่คุณ

๔. อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมาก ใช้ภาษาไทยไม่เป็น เพราะเขาเห็นเป็นของธรรมดาเกินกว่าที่จะทำความรู้จักกับมัน เขาจึงขาดเครื่องมือสำคัญในอาชีพ นอกจากใช้ภาษาไทยไม่เป็นแล้ว อาจารย์อีกร้อยละ ๙๖–๙๗ ก็ใช้ภาษาอื่นไม่เป็นอีกด้วย อย่าสำคัญผิดคิดว่าเมื่อเขาใช้ภาษาไทยไม่เป็นแล้วเขาจะใช้ภาษาฝรั่งเป็น-ไม่เป็นหรอกคู้ณ

๕. อาจารย์มหาวิทยาลัยครึ่งหนึ่ง ไม่แตกฉานในเนื้อหาวิชาที่ตนสอน เมื่อคุณเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ทั้งๆ ที่คุณตั้งใจเรียน จึงมิใช่ความผิดของคุณทั้งหมดหรอก

๖. อาจารย์มหาวิทยาลัยกว่าครึ่ง ไม่ติดตามความก้าวหน้าในศาสตร์ที่ตนสอน ตลอดจนไม่เหลือบแล ข้อเท็จจริงในแง่การปฏิบัติการ เพราะละอายเกินไปที่จะยอมรับว่าตนยังไม่รู้อะไรอีกบ้าง

๗. อาจารย์มหาวิทยาลัยที่หย่อนประสิทธิภาพมากที่สุดได้แก่พวกที่สอนสังคมศาสตร์ เพราะเป็นสาขาวิชาที่ “รู้” ยาก และ “สอน” ยาก แต่บุคคลากรที่เข้ามาในแขนงสังคมศาสตร์กลับเป็นบุคคลากรที่มักจะด้อยคุณภาพ จึงไปกันใหญ่ไม่น่าประหลาดที่คุณไปฟังอาจารย์วิชาสังคมศาสตร์แขนงต่างๆ เช่น สังคมวิทยา สอนคุณเหมือนกับกำลังนินทาชาวบ้านให้คุณฟัง หรือไม่ก็เหมือนกับกำลังเล่าวิวัฒนาการของสังคมอเมริกาหรือสังคมจีนให้คุณฟัง ไม่ใช่สังคมไทย

๘. อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็น สาวโสด มีเป็นจำนวนมาก คนกลุ่มนี้บางคนที่เขา “ทำใจ” กับวิถีชีวิตของตนเองได้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่อีกส่วนหนึ่งที่ “ทำใจ” ไม่ได้จะมีผลต่องาน และอย่าลืมว่า จริงๆ แล้ว งานอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้น เป็นงานที่demand สมาธิ, intellectual capacity, objectivity และมี pressure พอสมควร คนที่ “ไม่เป็นกันเองกับตัวเอง” รับภาระงานชนิดนี้ได้โดยยากลำบาก

๙. อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมาก มาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วยสิ่งล่อหลอกเปลือกนอกของอาชีพนี้ เช่น การได้รับการยอมรับจากสังคม การได้ไปเมืองนอก เขามิได้มาเป็นอาจารย์เพราะเขารักอาชีพครู หรือมีวิญญาณแห่งการเป็นครู เขาเป็นครูเพราะเวรกรรมพามาและในที่สุดเวรกรรมของคุณ ก็พาคุณมาพบกับพวกเขา

๑๐. โปรดระวัง อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นบุคคลที่มักสำคัญตนผิดได้ง่ายมาก เพราะโดยอาชีพ เขาคบหาสมาคมอยู่กับคนประเภท”ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันโง่” (สำนวนอันมีชื่อเสียงของคุณวิทยากร เชียงกูล) คนเขลารุ่นนี้เริ่มฉลาดขึ้นนิดหน่อยก็จากเขาไป คนเขลาคลื่นลูกใหม่ก็มาแทนที่ชีวิตของเขาเวียนว่ายอยู่กับ “คนเขลา” รุ่นแล้วรุ่นเล่า หาที่สิ้นสุดมิได้นานๆ เข้าจึงสำคัญตนผิด คิดว่าคนทั้งโลกมันเขลากันอย่างนั้นทุกคน ตัวเองฉลาดเป็นการถาวรอยู่แต่ผู้เดียว

๑๑. ในทางกลับกัน ก็อาจเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจได้เมื่อคนเขลาๆ ที่ตนเคยพบอยู่แต่เดิม เสือกฉลาดขึ้นมากมายในอีก ๓-๔ ปี ให้หลัง

๑๒. อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากมาเป็นอาจารย์ด้วยจิตใจที่คิดจะมา “เอา” (take) มิใช่ จะมา “ให้” (give) คือ จะมา take อภิสิทธิ์ต่างๆ ทั้งในรูปธรรมนามธรรมของการที่ได้ขึ้นชื่อว่า เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เช่น ทุนการศึกษาไปต่างประเทศ ฯลฯ ฯลฯ จึงไม่น่าประหลาดใจแต่ประการใด ที่คนพวกนี้บางคน “ให้” แก่มหาวิทยาลัยได้น้อย และ “ให้” แก่นักศึกษาได้น้อย หลังจากที่ “สวาปาม” หยิบชิ้นปลามันไปรับประทานเรียบร้อยและชินชา ตลอดจนขับถ่ายหมดแล้ว

๑๓. คนที่ไม่ได้รักอาชีพครู จำนวนมากเหล่านี้ มีชีวิตประจำวันอย่างเซ็งๆ ไป ปีแล้วปีเหล่า ถึงเวลาเขาก็มา “ให้บริการ” การสอนพอให้หมด “หน้าที่” (และเขาจำกัดกรอบหน้าที่ของเขาให้แคบมากที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้)

๑๔. ท้ายที่สุด ในสายตาของคน “แย่ๆ” เหล่านี้ นักศึกษาจึงถูกลอยแพและเป็นเพียง “instrument” แห่งการ “ดำเนินชีวิตประจำวัน” ของเขาเท่านั้น ไม่มีความหมายมากไปกว่านั้น

วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2551

ขุ่นเคืองใจ

เมื่อวันก่อนเห็นความคิดเห็นของเพื่อนคนหนึ่งในเวบบอร์ด
ท่าทางกำลังมีปัญหากับสต๊าฟ (คือแพทย์ที่อาวุโสกว่า)
แต่เขาก็สรุปความคิดของเขาในตัวว่า
"ถึงอย่างไรเขาก็แก่กว่าเรา"

เป็นประเด็นให้ผู้เขียนคิดต่อมาว่า
"แล้วไง"
แก่กว่า มีสิทธิอู้มากกว่า
แก่กว่า ความคิดเห็นถูกเสมอ
แก่กว่า มีความถูกต้องมากกว่า
(อาจจะใช่ก็ได้ ความถูกต้อง = Right = สิทธิ)

เป็นมาแต่ไหนแต่ไรที่สังคมมนุษย์ให้ความเคารพนับถือผู้ที่อายุมากกว่า
เนื่องจากมีชีวิตมานานกว่าจึงมีประสบการณ์มากกว่า
และเนื่องจากมีประสบการณ์มากกว่า จึงเข้าใจเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นมากกว่า
คำแนะนำของผู้อาวุโสจึงมักถูกต้อง....

แต่ ด้วยความที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน
ผู้อาวุโสก็มีความคิดส่วนเป็นอัตวิสัย (subjective)
ซึ่งเป็นส่วนที่อาจจะไม่ได้รับประโยชน์จากประสบการณ์
ตรงนี้เป็นจุดให้เกิดความผิดพลาดในความคิดผู้อาวุโส
จนบางครั้งเป็นที่เห็นได้ประจักษ์ว่าผู้อาวุโสน่ะผิด....

สังคมควรเปิดกว้างให้ผู้ที่อ่อนวัยกว่าแสดงความคิดเห็นได้
แต่พูดตามตรง ตัวผู้เขียนเองก็รู้สึกไม่กล้าพูด
ทั้งที่รู้ว่าสิ่งที่ผู้อาวุโสพูดมาน่ะมันผิดโว้ย...
ได้แต่รู้สึกกระอักกระอ่วนอยู่ในใจ
ดีที่สมัยนี้มีอินเตอร์เนต พื้นที่ว่างๆที่ให้แสดงความคิดเห็นได้
เป็นแดนอิสระให้ชนชั้นกลางได้แสดงความคิดเห็น....

คิดไปคิดมา ก็หาข้ออ้างให้ตัวเอง
ที่ฉันไม่กล้าพูดไม่ใช่เพราะฉันผิดหรอกนะ
แต่เพราะสังคมที่ฉันเติบโตมาน่ะผิด
ที่ทำให้ฉันเติบโตมาเป็นคนไม่กล้าพูด
สังคมผิดตลอด
ผู้เขียนถูกเสมอ....

เรียนตลอดชีวิต

เรียนไปเรื่อยๆ

อนุบาล
ประถมศึกษา
มัธยมศึกษา
อุดมศึกษา
อุดมศึกษาอีกครั้ง
เกือบจะหมดแล้ว

แต่ก็ยังต้องเรียนอีก...
เรียนอีก...
แล้วก็เรียนต่อไปเรื่อยๆ

อายุ ๔๐ แล้วยังต้องไปเรียนหรือเปล่านะ....

วันเสาร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2551

ความขี้เกียจ

อิทธิบาท ๔ ได้แก่

๑. ฉันทะ (ความพอใจที่จะทำกิจการงาน)
๒. วิริยะ (ความเพียรหรือขยันที่จะทำงาน)
๓. จิตตะ (ความเอาใส่ใส่ที่จะทำงานให้สำเร็จ)
๔. วิมังสา (การประเมินผลงานที่ทำแล้ว)

อบายมุข ๖ (ทางเสื่อม ๖ อย่าง) ได้แก่

๑. คบคนชั่วเป็นมิตร
๒. เกียจคร้าน
๓. เที่ยวกลางคืน
๔. เที่ยวตะลอนไม่มีแก่นสาร
๕. เล่นการพนัน
๖. ดื่มน้ำเมาพี้ยาเสพติด

พระ

ช่วงนี้มีเรื่องให้คิดเกี่ยวกับพระสงฆ์หลายเรื่อง

เรื่องน่าคิดมีดังต่อไปนี้
1. สมัยนี้จำนวนพระสงฆ์ที่บวชยาวตั้งแต่เป็นสามเณรจนเป็นพระสงฆ์มีมากน้อยขนาดไหน ?
2. พระสงฆ์ในประเทศไทยมีฐานะทางเศรษฐกิจก่อนเข้าสู่สมณเพศเป็นอย่างไร มีการกระจายตัวของชนชั้นแบบฆราวาสหรือไม่ มีชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง และรากหญ้าเป็นอัตราส่วนอย่างไร ?
3. ปัจจุบันองค์กรที่ปกครองคณะสงฆ์คือมหาเถรสมาคม มีความคิดเห็นอย่างไรกับสภาวการณ์ปัจุบัน และมีแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตศรัทธาของวงการสงฆ์อย่างไรบ้าง ?

ประสบการณ์ในช่วง 3 เดือน เกี่ยวกับพระสงฆ์มีดังต่อไปนี้
1. แท็กซี่เล่าให้ฟัง ว่าก่อนที่จะรับหมอขึ้นมาเนี้ย รับหลวงพ่อมารูปหนึ่งบ่นว่ามาสวดศพรอบนี้ไม่คุ้มเลย เปิดซองมาได้ 100 บาทเอง แท็กซี่กลุ้มใจ หมอก็กลุ้มใจ
2. เห็นพระสงฆ์บิณฑบาตโดยการยืนอยู่ใกล้ร้านอาหารที่ขายชุดอาหารใส่บาตร เมื่อมีพุทธศาสนิกชนมาซื้ออาหาร ท่านก็จะรับบิณฑบาตทันที
3. พระสงฆ์เป็นกลุ่มที่มีการสักเป็นอย่างมาก เดิมผู้เขียนรู้สึกไม่ชอบคนที่สักยันต์ตามตัวอยู่แล้ว จึงรู้สึกกระอักกระอ่วนใจเวลาเห็นพระสงฆ์สักลวดลายอักขระโบราณตามร่างกาย

เรื่องเหล่านี้ผู้เขียนคงหาคำตอบได้สักวัน อาจจะเป็นเมื่อผู้เขียนเข้าสู่ร่มกาสาวพักตร์.......

วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2551

แพทย์และนักกฎหมาย

วิชาแพทยศาสตร์ และนิติศาสตร์มีความเหมือนกันหลายอย่าง ทั้งในแง่เนื้อหา และแนวทางการปฏิบัติ หลังจากที่ผู้เขียนได้เรียนวิชานิติศาสตร์มาระยะหนึ่ง ผู้เขียนได้สังเกตและลองเปรียบเทียบลักษณะของสองวิชานี้ และพอจะสรุปความเหมือนกันของสองวิชาได้ดังนี้

ประการแรก ทั้งสองวิชาเป็นความรู้ที่ใช้ในการประกอบวิชาชีพเหมือนกัน ซึ่งทั้งสองวิชานี้เคยอยู่เคียงคู่กันในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยตั้งแต่สมัยโรมัน (หรือสมัยกรีก? ไม่ทราบเหมือนกัน รู้แต่ว่าโบราณ) วิชาที่สามคือนักบวช ซึ่งอยู่ในลักษณะเทววิทยา ทุกวันนี้การศึกษาคณะแพทยศาสตร์ และนิติศาสตร์ในอเมริกาก็ต้องการวุฒิปริญญาตรีในการเข้าศึกษา ไม่ได้แยกตัวเป็นคณะต่างหากอย่างในประเทศไทย

ประการที่สอง เนื่องจากเป็นวิชาเฉพาะ ทั้งสองนี้จึงมีศัพท์เทคนิคที่คนภายนอกไม่อาจจะทำความเข้าใจด้วยพจนานุกรมได้ เวลาหมอพูดกับหมอ หรือนักกฎหมายพูดกับนักกฎหมาย คนทั่วไปย่อมฟังไม่รู้เรื่อง

ประการที่สาม ขึ้นชื่อว่าความรู้ ก็ต้องมีความรู้ทั่วไป และความรู้เฉพาะทาง ในทางการแพทย์ วิชาหลักของการแพทย์ตั้งแต่สมัยโบราณก็คือ อายุรศาสตร์ และศัลยศาสตร์ อย่างที่มีสุภาษิตโบราณของ Hippocrates ที่ว่า What drugs will not cure, the knife will ในขณะที่ทางกฎหมายก็มีสองวิชาหลัก คือ กฎหมายแพ่ง และกฎหมายอาญา นักศึกษาที่เรียนจบจากคณะทั้งสอง เบื้องต้นจะมีความรู้ทั่วไป ไม่เจาะจง เมื่อมาเรียนต่อความรู้ก็จะลงลึกมากขึ้น มากขึ้น จนมักมีปัญหาบ่อยๆเรื่องการเรียนที่ลึกเกินไปจนขาดการมองภาพรวม เช่น อายุรแพทย์มีการเรียนหลักสูตรต่อยอดเป็นแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบทางเดินหายใจ นักกฎหมายก็มีการเรียนต่อเฉพาะทางกฎหมายปกครอง กฎหมายลักษณะหนี้ ฯลฯ

เท่าที่ผู้เขียนนึกออก และเคยอ่านผ่านตาก็มีประเด็นอยู่สามประเด็นอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ถ้านึกอะไรออกอีกจะมาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมอีก...

วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2551

นั่งคิด

เมื่อได้มีโอกาสนั่งคิด
ขณะนี้ผู้เขียนก็ได้็ทำตามความฝันไปส่วนหนึ่งแล้ว
-จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์
-ได้เรียนต่อเฉพาะทางสาขาที่ตัวเองใฝ่ฝันตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์คือ นิติเวชศาสตร์
-ได้เริ่มเรียนกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความใฝ่ฝันอื่นๆที่กำลังตามมาก็ได้แก่
-ได้วุฒินิติศาสตร์บัณฑิต
-ได้เป็นหมอนิติเวชฯ
-ได้เป็นครูแพทย์
-ได้เขียนบทความทางวิชาการ
ฯลฯ

คิดๆดูมันก็น่าดีใจ
การได้มีโอกาสมานั่งคิด และชื่นชมชีวิตแบบนี้ ก็น่าดีใจ....
อยากให้ทุกคนได้มีโอกาสนั่งเฉยๆแล้วย้อนมองอดีตจนมาถึงปัจจุบัน...จะได้ดีใจกัน...

วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

พี่น้อง

เดี๋ยวนี้เวลาผู้เขียนไปร้านอาหาร หรือร้านค้าต่างๆ
ผู้เขียนจะเรียกคนขายหรือพนักงานเสิร์ฟโดยใช้สรรพนามบุรุษที่สองว่า "คุณ" "คุณคนขาย"
คือ ไม่เรียกว่าพี่ หรือน้องอีกต่อไป (สำหรับคนแปลกหน้า)
และมักจะรู้สึกหงุดหงิดถ้าหากว่าใครมาเรียกผู้เขียนว่า"น้อง" ผู้เขียนจะรู้สึกไม่พอใจร้านค้านั้นๆ และหมดอารมณ์ที่จะซื้อของที่ร้านนั้นๆ
ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าตัวเองรู้สึกอย่างนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่....

อาจเป็นเพราะเรื่องสถานะทางสังคมที่ผู้เขียนคิดไปเองคนเดียว...
ผู้เขียนรู้สึกว่าพี่น้องในลักษณะวงศ์ญาติของผู้เขียนก็คงมีเท่าๆเดิม ไม่มีเพิ่มขึ้นอีก คงมีแต่หลานที่จะเพิ่มขึ้น ผู้เขียนรู้สึกอีกเช่นกัน ว่าคำว่าพี่ หรือน้องผู้เขียนคงสงวนไว้ใช้กับคนในวงการสาธารณสุข รุ่นพี่น้องในระดับมหาวิทยาลัย หรือคนที่สนิทในระดับหนึ่ง

อาจเป็นเพราะผู้เขียนถูกเรียกว่าหมอซะจนเคยชิน
กลายเป็นอภิสิทธิชนเกือบเต็มรูปแบบ....

วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2551

คนดีที่ก้าวร้าว

เมื่อตอนที่ไปค่ายอาสาฯขณะเป็นนักเรียนแพทย์ เรื่องหนึ่งที่จำได้จนติดใจถึงทุกวันนี้ คือเรื่องคนดีทีก้าวร้าว

พี่ค่ายคนหนึ่งได้พูดเรื่องนี้ในวงประชุมเช้า

ประเด็นคือ ในสังคมปัจจุบันที่มีแต่ความวุ่นวาย แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น คนในสังคมมักไม่กล้าทำความดี และปล่อยให้เรื่องราวต่างๆในสังคมเป็นไปตามทางของมัน พี่ค่ายท่านนั้นจึงอยากเสนอให้พวกเราลองเป็นคนดีที่ก้าวร้าว ในความหมายของพี่คนนั้น คนดีที่ก้าวร้าว คือ คนที่กล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง และมั่นใจในความดีที่ได้กระทำ เพื่อให้สังคมนี้น่าอยู่ และมีสภาพที่ดีขึ้นกว่านี้...

ช่วง 2-3 สัปดาห์ ผู้เขียนย้อนระลึกถึงคำพูดนี้อีกครั้ง เพราะคนดีมัวแต่ไม่กล้า สังคมจึงเป็นแบบนี้ ไม่กล้าที่จะบอกว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก จริงอยู่ที่ว่าสังคมปัจจุบันเป็นสังคมสมัยใหม่ มีความสลับซับซ้อน มีภาพรวมเป็นสีเทา ไม่มีขาว-ดำ แบบสังคมในอดีต ความดี-ชั่วขึ้นกับมุมมอง หรือทัศนคติของคนในสังคม บางคนก็เรียกสังคมยุคปัจจุบันว่า ยุคแห่งความไม่แน่นอน (age of uncertainty)

แต่กับบางเรื่อง ทั้งๆที่คนธรรมดา ไม่จำเป็นต้องเป็นวิญญุชน(รากศัพท์จาก pater familias แปลว่าคนที่มีความดีขนาดเป็นหัวหน้าครอบครัวได้)ก็สามารถบอกได้ ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก เป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐาน คนในสังคมปัจจุบันกลับปล่อยปละละเลย ให้เกิดขึ้นเรื่อยๆเรื่อยๆ ไม่มีใครพูดถึง หรือไม่มีใครลุกขึ้นมาประกาศว่าสิ่งนี้คือความชั่ว จงรังเกียจความชั่วนี้ และอย่าทำมันอีก...

สังคมวันนี้ต้องการคนดีที่ก้าวร้าวจริงๆ...

วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2551

การเรียนครึ่งวัน กับทัศนคติของนักปกครองไทย

ผู้เขียนพึ่งได้ทราบจากน้องชายว่าขณะนี้ นักศึกษาแพทย์ปี 3 มีการจัดตารางสอนแบบใหม่ คือเรียนครึ่งวันเช้า หลังจากนั้นจะหยุดเรียนในช่วงบ่าย เพื่อให้นักศึกษาไปอ่านหนังสือ หรือหาความรู้แบบอื่นๆ แล้ววันถัดไปก็ใช้ความรู้ที่ได้จากการศึกษาด้วยตนเองมาทำ KSA สรุปคือมีการบรรยายน้อยลง มีการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น

แนวความคิดนี้เป็นแนวความคิดที่น่าสนใจ ผู้เขียนรู้สึกเห็นด้วย น่าจะทำให้นักศึกษาแพทย์ผ่อนคลายมากขึ้น เพราะมีการบรรยายน้อยลง อ่านหนังสือมากขึ้น และมีเวลาว่างมากขึ้น

แต่ถ้าผู้เขียนมองในมุมมองแบบนักปกครองไทย ก็คงจะได้แนวความคิดเช่นนี้

"ปล่อยให้นักศึกษาไปอ่านหนังสือเอง! เดี๋ยวพวกเด็กๆก็คงจะเอาเวลาไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า ไม่เป็นโล้เป็นพายหรอก พวกนี้ชอบอยู่แล้ว เรื่องไม่ต้องเข้าเรียนน่ะ คงไม่มีใครมานั่งบ้าอ่านหนังสือเองหรอก เพื่อนๆไปเที่ยวกันหมดแล้วนี่ โอ๊ยการศึกษาแพทยศาสตร์ ล่มจมกันแน่..."

เนื่องจากชนชั้นปกครองของไทยก็มักจะมองประชาชนในลักษณะที่ว่า คนเหล่านี้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม รับเงินจากนักการเมือง คิดถึงแต่การเมืองท้องถิ่น ชอบนโยบายประชานิยม เลือกตั้งจนได้นายกรัฐมนตรีชื่อสมัคร สุนทรเวช ระบอบประชาธิปไตยไม่เหมาะกับคนไทย สิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องของฝรั่ง การปกครองของคนไทยควรต้องมีผู้ชี้นำ การปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจเอง เท่ากับปล่อยประเทศให้ล่มสลาย เป็นภัยต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์...

และเชื่อได้เลย ว่านักศึกษาแพทย์ส่วนหนึ่งย่อมไม่ต้องการวิธีเรียนแบบนี้ เพราะต้องอ่านหนังสือเองเป็นหลัก การให้คนอื่นมาพูดให้ฟังย่อมสะดวกสบายกว่า เหมือนกับอย่างที่คนไทยส่วนหนึ่งต้องการคืนอำนาจให้กับพระมหากษัตริย์ ยกเลิกการปกครองในระบอบประชาธิไตย...

อ้อๆ ลืมไปๆ พวกเราเป็นปัญญาชนนี่ การศึกษาแบบนี้แหละเหมาะสำหรับพวกเราแล้ว เพราะพวกเราไม่ใช่คนธรรมดา พวกเราเป็นผู้มีการศึกษา ย่อมมีความสามารถตัดสินใจ เลือกสิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว พวกเราจะต้องขยันเรียน มุ่งมั่นหาความรู้ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาช่วยประชาชนต่อไป ต่อต่อไป...

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551

รับน้องอีกครั้ง

ตอนนี้ก็ผ่านมาถึงช่วงรับน้องอีกครั้ง
งานรับน้องปีนี้ก็ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หัวสีอีกตามเคย
ลักษณะเดิมๆ ซึ่งก็มักเป็นมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาค
หรือพวกนักเรียนสายอาชีพ

มหาวิทยาลัยของรัฐในกรุงเทพฯไม่มีปัญหารับน้องมาหลายปีแล้ว
ไม่ทราบว่าด้วยกลไกอะไร เข้าใจว่าเป็นเรื่องสถานะของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้นๆด้วยหนึ่ง
และสภาพแวดล้อมของสังคมด้วยอีกหนึ่ง

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะมีคนรู้กี่คนว่าที่เขาพูดต่อๆกันมาว่าประเพณีรับน้องเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานนั้น จริงๆแล้วมีความจริงครึ่งเดียว

ระบบรับน้องมีมานานจริง แต่ไม่ได้อยู่คู่สังคมไทยโดยตลอด เมื่อช่วงปี 2516-2519 ช่วงที่เป็นยุครุ่งเรืองของเสรีภาพ นักศึกษารุ่นน้องหัวก้าวหน้าสามารถต่อสู้ทางอุดมการณ์กับรุ่นพี่ จนทำให้ไม่มีประเพณีรับน้องในหลายมหาวิทยาลัย เพราะพวกเขาเชื่อว่าการรับน้องเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นศักดินาอย่างหนึ่งในสังคม

จนกระทั่งหมดยุคคนเดินตุลา เผด็จการเจริญงอกงามอีกครั้ง ระบบหรือประเพณีรับน้องก็กลับมาใหม่...

หลายครั้งผู้เขียนตั้งคำถามถึงระบบอุปถัมป์ในสังคมไทย (แต่เดิมผู้เขียนมักใช้คำว่าระบบเส้นสาย แต่เนื่องจากเพื่อความทันสมัย เลยใช้คำว่าระบบอุปถัมป์) ว่ามันสิ่งที่ชอบธรรมหรือไม่ สำหรับสังคมสมัยใหม่ที่วัดคุณค่าของคนจากผลงาน จากพฤติกรรมที่แสดงออกระหว่างการทำงาน ไม่ได้วีดจากสถานภาพทางสังคม (หรือชนชั้น)แบบสมัยก่อน....

มีบางคนบอกว่าระบบอุปถัมป์บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายทั้งหมด ผู้เขียนไม่ชอบใจเอาเสียเลย.....

ตอนนี้คนในสังคมเอาคุณธรรม หลักธรรมต่างๆมาปนกันมั่วไปหมด ความกตัญญู การตอบแทนคุณ ความเอื้ออารีจากผู้ใหญ่ให้ผู้น้อย ขยุ้มรวมกันจนได้ระบบอุปถัมป์ขึ้นมา......

วันนี้ง่วงนอนคิดไม่ออกแล้ว....

วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เป็นผู้ใหญ่

เมื่อตอนที่ยังเป็นเด็ก
ผู้เขียนรู้สึกรังเกียจความชั่วทั้งปวง
ทั้งสิ่งที่ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นความชั่วเอง
และสิ่งที่สังคมรอบข้างบอกผู้เขียนว่าสิ่งนั้นๆคือความชั่ว
ผู้เขียนรู้สึกเกลียดระบบเส้นสาย
ผู้เขียนรู้สึกเกลียดการพนัน
ผู้เขียนรู้สึกเกลียดการแบ่งแยกชนชั้น
ผู้เขียนรู้สึกว่าคนที่แกล้งผู้เขียนน่าจะไปตายให้หมด....เพราะมันเป็นคนชั่ว

เปรียบเทียบกับวันนี้
วันที่สังคมบอกว่าระบบเส้นสายบางครั้งก็เป็นเรื่องที่ดี
วันที่หวยบนดินเป็นเรื่องถูกกฎหมาย
วันที่ผู้เขียนรู้สึกดีที่ตัวเองมีอภิสิทธิ์
วันนี้ผู้เขียนรู้สึกเฉยๆกับเรื่องเหล่านี้
เพราะว่ามันคือความจริง
ความจริงของสังคม
สังคมที่ต้องมีทั้ง Hero และ Creep

วันนี้ผู้เขียนเป็นผู้ใหญ่แล้วนี่เอง....

วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

หมอเจ็บ หมอก็เป็นคนธรรมดา

หมอเจ็บเป็นภาพยนตร์ตลกเบาสมองที่ออกฉายในปี 2547 นำแสดงโดย พอล ภัทรพล ศิลปาจารย์(หมอพาย)และจิบบี้ ตะวัน แซ่ตั้ง(หมอถุน) กระแสตอบรับของภาพยนตร์เรื่องนี้นับว่าดี นักศึกษาแพทย์จริงๆก็ชอบ นักเรียนในอินเตอร์เนตหลายคนก็บอกว่าได้รับแรงบันดาลใจจากหนังเรื่อนี้มาก อยากเป็นหมอหลังจากดูภาพยนตร์จบ

เนื้อหา
เรื่องมีอยู่ว่า หมอพายและหมอถุนเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 6 หรือ extern อยู่ที่คณะแพทยศาสตร์แห่งหนึ่ง (ซึ่งใช้ฉากเป็นโรงเรียนเทพศิรินทร์) ซึ่งหมอทั้งคู่เป็นหมอที่แสบๆคันๆ ไม่เหมือนนักศึกษาแพทย์คนอื่น ถึงแม้ว่าจะทำตัวดูแย่ แต่จิตใจก็เป็นคนดีงาม รักชีวิตเพื่อนมนุษย์ ในปีนี้พวกเขาต้องไปใช้ชีวิตในชนบท และเรียนรู้การอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน การค้นคว้าวิจัย รวมทั้งการอยู่ด้วยกันในสังคม และอื่นๆ ในตอนจบหมอพายต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการสอบกับการช่วยเหลือชีวิตคนไข้ ซึ่งเรื่องราวก็จบแบบแฮปปี้เอนด์ดิ้ง ผู้เขียนคิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่สนุกดี ดูเพลินๆ แฟนของหมอพายก็หน้าตาดี...

จุดบอด
ดูๆไป หนังเรื่องนี้จะมีหมอสุดขั้วอยู่ 2 แบบ คือแบบหมอพาย และหมอถุน คือ ภายนอกดูเลว แต่งตัวไม่เหมือนหมอ เอาแต่ซิ่งมอเตอร์ไซค์ ดูภาพพจน์ไม่ดี มาทำงานก็สาย ตอนเช้าก็ไม่รู้เคส ต้องให้เพื่อนช่วยใบ้ แต่จริงๆแล้ว พวกเขาก็ตั้งใจทำงานเพื่อคนไข้ ถึงแม้จะไม่เคยผ่าตัด ก็พยายามผ่าตัดเพื่อช่วยเหลือชีวิตคนไข้ โดยไม่คิดถึงผลที่ตามมา... โอ้ช่างน่าสรรเสริญ เปรียบเทียบกับหมออีกแบบ คือรูมเมทของพวกเขา และผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่พวกเขาไปอยู่ คือ ใส่แว่น หน้าตาไม่เป็นมิตร ทำงานแบบ "รักษาภาพพจน์" เอาจริงเอาจังกับการเรียน ถึงกับล็อกตู้หนังสือเพื่อไม่ให้เพื่อนรู้ว่าตัวเองใช้หนังสืออะไร พร้อมที่จะโยนความผิดให้กับคนอื่นเวลางานมีแนวโน้มจะผิดพลาด เรื่องที่มีหมอสุดขั้ว 2 แบบ ผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นจุดบอดของหนังเรื่องนี้ ซึ่งคล้ายๆกับหนังไทยอีกหลายเรื่องที่เนื้อเรื่องมีแนวโน้มที่จะสุดขั้ว ไม่มีสีเทา หรือคนแบบกลางๆ อยู่ในเรื่อง ทำให้เรื่องดูไม่สมจริง และผู้เขียนเองก็รู้สึกว่าไม่อยากเป็นหมอทั้งสองแบบ ถึงแม้หมอพายกับหมอถุนจะเป็นคนดี แต่เรื่องมาไม่ตรงเวลาเป็นเรื่องที่ผู้เขียนรู้สึกถือสาเป็นอย่างมาก เพราะหมอทำงานกับคนหลายคน ถ้าหมอมาสายสักคน งานหลายๆอย่างจะเริ่มไม่ได้ คนไข้ก็ต้องคอยนานขึ้น พยาบาลและเภสัชกรก็ต้องเลิกงานช้าตาม หมอคนอื่นๆที่มาตรงเวลาก็ต้องโหลดงานมากขึ้น มีแต่ผลเสีย

เป็นหมอเพราะอะไร
นักศึกษาใหม่มักจะถูกตั้งคำถามเวลาสอบเข้า ว่าเลือกเรียนคณะนี้ๆ เพราะอะไร ในเรื่องหมอเจ็บ หมอพายมาเป็นหมอเพราะพี่ชายเห็นว่าอาชีพหมอจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในยุคสงคราม เช่นเดียวกับทหาร หมอพายจึงเลือกเรียนหมอตามที่ครอบครัวต้องการ เป็นความเป็นจริงอย่างหนึ่งของสังคมไทยที่หนังแสดงให้เห็น เด็กไทยนั้นมีโอกาสที่จะเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองต้องการน้อย เพราะปัจจัยหลายอย่าง ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม หวังว่าในอนาคต เด็กไทยที่เรียนเก่งจะมีทางเลือกมากกว่าหมอ และวิศวกร

เกิดเป็นหมอ
"เกิดเป็นหมอ" เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่งโดยนายแพทย์วรวิทย์ วิศิษฐ์กิจการ หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมไทยบัวหลวง ของธนาคารกรุงเทพ ในปีพ.ศ.2519 ผู้เขียนคาดเดาว่าคงเป็นสื่ออีกสื่อที่เป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งในนักเรียน
เลือกเรียนคณะแพทยศาสตร์ พี่หมอในเรื่องเขียนจดหมายมาเล่าเรื่องราวการปฏิบัติงานในชนบทให้กับน้องเล็ก
ฟังเป็นจำนวน 20 ฉบับ มีเนื้อหาหลากหลายตั้งแต่ความสนุก ความประทับใจ ความน่าสลดใจที่พี่หมอมีต่อวงการสาธารณสุข และความขัดแย้งระหว่างพี่หมอ และเพื่อนพี่หมอที่ไม่ได้กลับไปชนบทแบบพี่หมอซึ่งเป็นจุดไคลแมกซ์ของเรื่อง มีคำพูดเด็ดๆหลายคำ เช่น "อุดมคติมันกินไม่ได้หรอก นายมันโง่" "อย่างน้อยก่อนที่เราจะช่วยคนอื่น ก็ต้องช่วยตัวเองก่อน" "ในกรุงเทพฯ นายเป็นเพียงไฟดวงเดียวท่ามกลางความสว่างไสว" "ยังมีคนอื่นที่เขายากแค้นกว่านายมากนัก นายไม่คิดจะช่วยเขาบ้างหรือ" เหตุผลของทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นความจริง

ฉากหนึ่งในเรื่องหมอเจ็บที่ทำให้ผู้เขียนคิดถึงเรื่องเกิดเป็นหมอ คือฉากการเลือกปฏิบัติงานซึ่งแพทย์จบใหม่ทุกคน แม้แต่หมอพายก็เลือกที่จะปฏิบัติงานในพื้นที่มีความเจริญ บางคนถึงกับมีครอบครัวมาให้กำลังใจ แฟนหมอพาย(ที่หน้าตาดี)ก็ออดอ้อนให้หมอพายทำงานในเมืองใหญ่ๆ มีความเจริญ หมอพายก็อยากทำแบบนั้นเพราะอยากร้องคาราโอเกะ ผู้เขียนไม่ได้รู้สึกต่อต้านความคิดแบบนี้ แค่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของ...(อะไรบางอย่าง ที่นึกคำไม่ออก)...ของสังคมไทยเท่านั้น

ผู้หญิงของหมอพาย
ชูชกเคยตรึกตรองไว้ว่า "สตรีนี้เป็นเกาะแก่งกีดกระแสกุศล มีมัจฉริยะมืดมนคือตัวมาร ยามเมื่อสามีจะทำทานมักทำลาย ด้วยแยบคายคอยค้อนติงเข้าทักท้วงให้ทอดทิ้งเสียศรัทธาผล" เหมือนในเรื่องตอนที่แฟนหมอพายพยายามออดอ้อนว่าไม่อยากไปอยู่บ้านนอก เปรียบเทียบกับจีระนันท์ที่ตามเสกสรรค์ไปสู้รบในป่า นี่ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่ผู้เขียนได้จากในภาพยนตร์ ถึงแม้ในกรณีจีระนันท์บางคนจะว่าเธอเสแสร้งก็ตาม (แกล้งทำตัวมีอุดมการณ์ เพื่อหาเรื่องเข้าป่า)

หมอเป็นคนธรรมดา
สิ่งที่สังคมไทยได้รับรู้อย่างหนึ่งในห้วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และหนังเรื่องหมอเจ็บได้มาตอกย้ำ คือแนวคิดที่ว่าหมอมีสถานะเป็นคนธรรมดา ไม่ได้เป็นเทวดา เมื่อเป็นคนธรรมดาก็ไม่แตกต่างจากคนทั่วไป เป็นคนที่ประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเอง และครอบครัว ไม่ใช่เรื่องผิดถ้าจะแสวงหากำไรจากความเจ็บป่วย เป็นเรื่องของการบริการ และการทำธุรกิจ เมื่อเป็นคนธรรมดา ทำผิดก็ต้องรับโทษ ถึงแม้จะไม่ตั้งใจ ถึงแม้จะทำไปด้วยความหวังดี แต่เนื่องจากไม่ได้เป็นเทวดา จึงต้องรับโทษเช่นเดียวกับคนทั่วไป...

ชื่อเรื่องก็เห็นอยู่แล้ว ว่าหมอเป็นคนธรรมดา หมอจึงเจ็บได้...

แนวคิดเหล่านี้ ผู้เขียนเองก็ไม่ได้รู้สึกซีเรียสอะไรมากนัก เพียงแต่อยากจะนำเสนอเพื่อความบันเทิงแบบ pessimistic บ้าง...

วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ความเป็นหมอนี่เอง

ผู้เขียนนึกออกแล้ว
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เปลี่ยนแปลงไป ก็คือ ผู้เขียนเป็นหมอแล้วนี่เอง....

ไปอ่านเจอบทความของนายแพทย์ประเวศ วะสี น่าอ่าน จึงเอามาสรุป และแบ่งปันกัน

ศักยภาพของแพทย์
สถานะ 4 อย่างที่ทำให้หมอเหนือกว่าคนทั่วไป
1. ฐานะทางเศรษฐกิจ ถึงแม้จะไม่ร่ำรวย แต่ก็ไม่มีวันจน
2. สติปัญญา
3. สถานภาพทางสังคม
เพราะ ข้อ 1,2,3 แพทย์จึงสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้มากกว่าประชาชนที่ต้องหาเลี้ยงปากท้องไปวันๆ
4. มีทางเลือก สามารถทำประโยชน์ได้หลายด้าน ทั้งการบริการ การวิจัย การให้การศึกษา
เพราะสถานะทั้ง 4 อย่างของแพทย์ ทำให้แพทย์มีศักยภาพสูงในการสร้างความสุข และเสริมสร้างสุขภาพให้กับสังคม

น่าสนใจและน่านำไปปฏิบัติครับ...

วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

สิ่งนี้มันคืออะไร

นับเวลาจากวันที่ผู้เขียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี
จนถึงวันนี้ก็ประมาณ 2 เดือน

ผู้เขียนรู้สึกได้ถึงบางอย่างที่เปลี่ยนไป
ไม่แน่ใจว่าความรู้สึกแปลกๆนี้คืออะไร

ความรู้สึกว่าคนอื่นก็คือคนธรรมดาๆ
ส่วนตัวผู้เขียนนั้นเป็นหมอ...

มีคนมาเรียกผู้เขียนว่าเป็นหมออย่างเต็มปากเต็มคำ
ไม่ได้เรียกหมอบ้าง เอ็กซ์เทิร์นบ้าง นอสอพอบ้าง แบบเมื่อวันเก่าๆ...

ผู้เขียนเริ่มรู้สึกว่าถึงหมวกอีกใบ...
ในยามที่พบกันครั้งแรกกับประชาชนคนเดินดิน ผู้เขียนจะถูกเรียกว่าหมอ
ไม่ได้ถูกเรียกว่าพี่ๆ หรือน้องคนนั้นอีกต่อไป
นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล...

ต่อให้เป็นนอกโรงพยาบาล
ผู้เขียนรู้สึกได้ถึงความมั่นใจบางอย่าง
ที่ทำให้เหนือกว่าคนทั่วไป...

อืมมม สิ่งนี้มันคืออะไรกันนะ...

วันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

คำถามว่าด้วยการทำงาน

ผู้เขียนรู้สึกสงสัย (ตั้งแต่เป็นนศพ.)
สงสัยเรื่องเกี่ยวกับการทำงานในสายวิชาชีพแพทย์
สงสัยว่าจริงๆแล้วการคิดแบบใดกันแน่ที่ถูกต้อง
ระหว่าง
๑) แพทย์รุ่นพี่อายุมากแล้ว เหนื่อยมามาก สมควรพักผ่อน
ช่วยเหลือประชาชนชาวไทยโดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยาก
การทำงานหนักให้เป็นหน้าที่ของแพทย์รุ่นน้อง
แพทย์รุ่นน้องเต็มใจที่จะอยู่เวรให้ หรืออยู่เวรแทนด้วยซ้ำ
๒) แพทย์รุ่นพี่ทำงานมามาก ย่อมมีประสบการณ์เหนือผู้อื่น
น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักศึกษาแพทย์ หรือแพทย์รุ่นใหม่ๆได้
ดังนั้นจึงควรทำงานต่อไป และสอนน้องให้มาก
ใช้ประสบการณ์ที่มี ถ่ายทอดรุ่นน้องให้เต็มที่ เพื่อพัฒนาวงการสาธารณสุขต่อไป

บางทีปัจจัยที่จะทำให้คิดแบบใดก็ขึ้นกับสื่งที่แพทย์คนนั้นๆเคยทำไว้ด้วยกระมัง....

วันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

อุดมการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

อย่างที่ได้เคยให้ความเห็นว่าอุดมการณ์สำหรับคนสมัยนี้(คนที่ให้ความเห็นตามเวบบอร์ด)เป็นเรื่องไม่พึงปรารถนาไปเสียแล้ว ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมจากประสบการณ์ของตัวผู้เขียนเอง

เมื่อตอนสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ได้ใหม่ๆ ผู้เขียนมาสอบสัมภาษณ์ตามปรกติ หลังสอบสัมภาษณ์เสร็จ นักศึกษาแพทย์รุ่นพี่ก็ได้เข้ามาทำความรู้จักและพูดคุยกับผู้เขียน ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจคือ รุ่นพี่ถามว่าได้แต่งเรื่องสาเหตุที่มาเรียนแพทย์ให้อาจารย์ฟังว่าอย่างไรบ้าง ฟังดูตอนนั้นผู้เขียนรู้สึกเฉยๆ และการพูดคุยก็เป็นไปด้วยความสนุกสนาน แต่ในปัจจุบันเมื่อผู้เขียนมองย้อนกลับไป นี่แสดงว่าโลกทัศน์ของนักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่เห็นว่าความต้องการที่จะมาเรียนแพทย์ของตัวเองนั้นไม่ได้สวยหรูเท่าไหร่นัก จึงต้องแต่งเรื่องเพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับการสัมภาษณ์ หรืออาจเป็นไปได้ว่าผู้เขียนมองโลกแคบไม่ได้คุยกับคนเยอะในช่วงนั้นทำให้เข้าใจเรื่องต่างๆไม่ตรงกับความเป็นจริง

ความน่าสนใจอยู่ที่สังคมคาดหวังว่าแพทย์จะต้องเสียสละให้กับสังคม ในขณะที่แพทย์ส่วนหนึ่ง (และกำลังมากขึ้น)เห็นว่าแพทย์ควรมีสิทธิในการปฏิเสธคนไข้ถ้าอยู่ในสภาวะไม่พร้อมเช่น กำลังพักผ่อน (คนละประเด็นกับเรื่องการ refer หรือส่งต่อ)ถ้ามองย้อนไปไกลๆก็จะเห็นว่าสาเหตุจริงๆๆๆ ที่นักเรียนส่วนหนึ่งมาเรียนแพทย์ก็เนื่องจากสอบได้คะแนนสูง และไม่มีที่ไป บางส่วนอาจเห็นว่าอาชีพแพทย์มีรายได้ดี ความสวนทางกันระหว่างความคาดหวังของสังคมกับความต้องการของแพทย์คงเป็นประเด็นใหญ่ที่มีเรื่องให้อภิปรายได้เรื่อยๆ และอีกนาน

ในช่วงทศวรรษที่หกสิบ ปี 1963 ประเทศจีนมี idol ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง (หรือถูกบังคับให้เป็นที่นิยม?)คือ สหายเหล่ยเฟย (Lei Feng) สหายผู้นี้เป็นตัวอย่างของชายจีน เป็นตัวแทนของเหล่าชนชั้นกรรมาชีพ ตอนกลางคืนสหายเหล่ยเฟยจะคอยแแอบขัดรองเท้าให้กับบรรดาสหายคนอื่นๆ สหายเหล่ยเฟยทำงานหนักและแบ่งเงินไปให้ผู้ทุกข์ยาก และฝันถึงแต่ประธานเหมา แทนที่จะฝันถึงหญิงสาว เหล่านี้พบได้ในแบบเรียน Learn from Comrade Lei Feng

เทียบกับสังคมจีนยุคปัจจุบันหลังยุคประธานเหมา idol ก็คงเปลี่ยนเป็นดาราวัยรุ่น เช่น ... ซึ่งผู้เขียนไม่รู้จักชื่อ แต่คงร้องเพลงเพราะ และรายล้อมด้วยสาวๆหน้าตาใสๆ

วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2551

ความหมายของอุดมการณ์

ผู้เขียนสนใจเรื่องความหมายของคำว่าอุดมการณ์
จึงได้ลองค้นคว้าความรู้แบบคนสมัยศตวรรษที่ 21 นิยมทำกัน
นั่นคือการค้นคำในเวบไซต์ กูเกิ้ลดอทคอม

ได้พบความหมายต่างๆที่น่าสนใจ ดังนี้

อุดมการณ์ คือ ความเชื่อความศรัทธา ตามแนวคิด ทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งโดยคิดขึ้นเอง หรือมีคนคิดไว้แล้วและมีความมุ่งมั่นที่จะทำตามความคิดนั้น อุดมการณ์ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไปอาจเป็นสื่งที่ดีหรือไม่ดีก็ได้
คำว่าอุดมการณ์นำมาใช้ครั้งแรกในปี 1707(พ.ศ. 2340)โดยนักวิชาการฝรั่งเศสชื่อ Antonie Louis claude Destutt de -Tracy


อุดมการณ์ แยกศัพท์ เป็น อุ+ตม+การณํ แปลว่า การกระทำให้สูงสูดหรือ การกระทำให้สูงขึ้น


Ideal (ไอเดียล') n. อุดมคติ,อุดมการณ์ adj. ดีเลิศ,สมบูรณ์,เป็นเพียงความนึกฝัน,เพ้อฝัน,ไม่มีจริง,ไม่เป็นความจริง,เกี่ยวกับอุดมการณ์,เกี่ยวกับอุดมคติ คำที่มีความหมายเหมือนกัน: fancied,imaginary


ความหมายที่ได้มาค่อยข้างตรงกับใจผู้เขียน
ในความคิดของผู้เขียน
อุดมการณ์โดยตัวมันเองเป็นสิ่งกลางๆ ไม่มีความดี-ความชั่ว
เป็นเหมือนสิ่งที่เหนี่ยวนำความคิด-พฤติกรรมของบุคคลให้เป็นไปตามอุดมการณ์ของบุคคลนั้นๆ
อุดมการณ์เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของทุกคน
เพราะจะทำให้บุคคลนั้นทำสิ่งต่างๆอย่างเต็มความสามารถ
และมีโอกาสทำได้สำเร็จตามความแรงกล้าของอุดมการณ์ตนเอง

อย่างที่ผู้เขียนคิดเอง และที่ค้นมา อุดมการณ์ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับความดี
บางคนมีอุดมการณ์อยู่ที่การเป็นคนร่ำรวยที่สุดในโลก
ถ้าเขามีอุดมการณ์ที่แรงกล้าในการทำให้ตัวเองรวย
สักวันหนึ่งเขาก็จะทำได้สำเร็จ
ซึ่งอาจจะใช้วิธีไหนก็ได้.....

คำอีกคำที่ผู้เขียนคิดว่าใกล้เคียงกับอุดมการณ์คือความมุ่งมั่น
ซึ่งความมุ่งมั่นจะเกิดในคนที่มีอุดมการณ์แรงๆ
การ์ตูนเรื่องล่าข้ามศตวรรษมีตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับความมุ่งมั่น
ในภาคหนึ่งโจโจ้ตัวเอกของเรื่องได้ต่อสู้กับสปีดวาก้อน (เป็นชื่อคนที่ประหลาดจริงๆ : Speed wagon)
สปีดวาก้อนสงสัยว่าทำไมเขาจึงสู้โจโจ้ไม่ได้ ทั้งๆที่เขามีอาวุธ
โจโจ้ตอบว่า เพราะเขาแบกชื่อเสียงของตระกูลโจสตาร์ไว้
เขามีความต้องการกอบกู้ตระกูลของตัวเอง
ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นที่สูงส่ง เขาจึงไม่เกรงกลัวอาวุธของสปีดวาก้อนแม้แต่น้อย
ในขณะที่สปีดวาก้อนสู้เพื่อค่าจ้าง(เงิน) ชาตินี้ยังไงก็สู้เขาไม่ได้
เพราะความมุ่งมั่นระดับต่างกัน สปีดวาก้อนจึงพ่ายแพ้ต่อโจโจ้....

เท่าที่อ่านความเห็นตามเวบบอร์ดผู้เขียนสังเกตว่า คนสมัยปัจจุบัน(ตามที่ผู้เขียนเข้าใจ คืออนุมานว่าคนที่เล่นอินเตอร์เนต และให้ความเห็นในเวบบอร์ดส่วนใหญ่เป็นคนปัจจุบัน)ไม่ได้รู้สึกว่าอุดมการณ์เป็นสิ่งที่น่าถวิลหาเท่าไหร่นัก คนในอินเตอร์เนตมักเห็นว่าอุดมการณ์เป็นเรื่องเพ้อฝัน คนที่มีอุดมการณ์ไม่ยอมอยู๋ในโลกของความเป็นจริง มากไปกว่านั้นคิดว่าอุดมการณ์ไม่มีอยู่จริง ใครกันจะบ้าทำอะไรตามความฝันของตัวเองได้ทุกอย่าง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจที่ต้องดิ้นรน ทำงานหาเงินมากๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนสมัยปัจจุบันทำตามอุดมการณ์ของตัวเองได้ยาก พาลไปคิดว่าการทำตามอุดมการณ์เป็นไปไม่ได้....

ยังมีต่อ....

วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2551

สาเหตุที่เลือกเรียนนิติเวชฯ

มีรุ่นน้องถามผู้เขียนบ่อยๆ ว่าทำไมจึงเลือกเรียนนิติเวชศาสตร์
จึงลองเรียบเรียงเหตุผลของตัวเองดู ทำให้ได้ข้อสรุปดังนี้

๑. มีความประทับใจในวิชานิติเวชศาสตร์
เริ่มจากการได้อ่านหนังสือชวนชันสูตรชอง อาจารย์วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์
เมื่อช่วงเรียนปี ๑ ผู้เขียนรู้สึกติดใจในเนื้อหาวิชา และการทำงานของแพทย์นิติเวชฯ
และตั้งความฝันไว้ว่าอยากเป็นหมอนิติเวชฯอย่างอาจารย์บ้าง
ถึงแม้ระหว่างเรียนแพทย์จะมีวิชาอื่นมาทำให้ไขว้เขวบ้าง แต่ในที่สุดผู้เขียนก็มาเรียนนิติเวชในที่สุด

ประโยคเด็ดในหนังสือเล่มนั้น คือ "ข้าพเจ้าเกลียดระบบเส้นสายเป็นที่สุด" เป็น ideology
ที่ผู้เขียนชอบมาก

หลังจากนั้นก็ได้ติดตามผลงานของอาจารย์ภาควิชานิติเวชฯมาเรื่อยๆ ทั้งบทความนิติเวชสาธก หนังสือกฎหมาย และบทความแสดงความเห็นทางกฎหมายที่อาจารย์ท่านต่างๆเขียน

ภาควิชานิติเวชศาสตร์ได้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สำคัญต่างๆของประเทศไทยมากมาย
เท่าที่ผู้เขียนลองไล่ได้ในฐานะประชาชนทั่วไปคนหนึ่ง มีดังนี้

-กรณีสววรคตเมื่อ มิถุนายน ๒๔๘๙ (the first and ever autopsy of royal family member)
-เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ (ซึ่งเหตุการณ์ในปี ๒๕๑๙ ภาควิชาฯคงไม่มีส่วนร่วมมากนัก เพราะมีคนตายคนเดียว....)
-คดีศยามล และซีอุย
-ภัยพิบัติ Tsunami ที่ภาคใต้เมื่อปี ๒๕๔๗

๒.ความต้องการเป็นอาจารย์แพทย์
เนื่องจากทางภาควิชาฯเปิดโอกาส นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้เขียนสนใจภาควิชานิติเวชศาสตร์ หน้าที่ของอาจารย์แพทย์ประกอบด้วยงาน ๓ ส่วน ได้แก่ งานบริการ การสอน และการวิจัย นอกจากนี้ผู้เขียนมีครูแพทย์ที่อยู่ในใจ และต้องการดำเนินรอยตามหลายท่าน หนึ่งในนั้นเช่น อาจารย์อวย เกตุสิงห์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดลที่

๓.โอกาสได้เรียนกฎหมาย
ซึ่งผู้เขียนได้สมัครเรียนกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสอบผ่านแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เริ่มเรียนรู้สาขาวิชาทางด้านสังคมศาสตร์อย่างนิติศาสตร์บ้าง และจะได้นำความรู้ทางกฎหมายมาช่วยเหลือเพื่อนแพทย์ และประชาชนชาวไทยต่อไป

นอกจากเหตุผลหลัก ๓ ข้อนี้ ก็คงมีปัจจัยสนับสนุนอีกหลายอย่างที่ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจเช่นนี้
ผู้เขียนคิดว่าผู้เขียนตัดสินใจได้ถูกต้องแล้ว และถ้าให้ตัดสินใจอีกครั้งก็คงเป็นเช่นเดิม...

วันอังคารที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2551

รวมเพลงคาเมนไรเดอร์

เนื่องจากช่วงนี้ผู้เขียนว่าง
และมีโอกาสเล่นเวบ Imeem
จึงสามารถทำ list เพลง OP ของเหล่าคาเมนไรเดอร์ยุคคลาสสิก
โดยคัดเอาเฉพาะเพลงที่ผู้เขียนชอบ ได้แก่
V1, V2, V3, Kamen rider X, Amazon, Stronger, Super One และ Black
เชิญฟัง

วันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2551

Fight! Kamen Rider V3

ในจำนวนคาเมนไรเดอร์ยุคคลาสสิก (V1 - kamen rider RX)

ผู้เขียนชอบ V3 มากที่สุด

คาซามิ ชิโร่เป็นเด็กหนุ่ม (หรือเป็นชายวัยหนุ่ม?) ธรรมดาๆ ที่พ่อ แม่ และน้องสาวถูกลูกจ้าง (ที่เป็นมนุษย์แปลง) ขององค์กรก่อการร้าย Destron ฆ่ายกครัว

เรื่องราวเกิดในตอนแรกของซี่รีย์นี้ หลังรู้ว่าบ้านขจองตัวเองถูกฆ่ายกครัว ชิโร่จึงต้องการแก้แค้นให้กับครอบครัว นี่เป็นพล็อตที่ถูกใจผู้เขียนมาก เพราะเป็นพล็อตที่ทรงพลัง มีแต่ความต้องการล้างแค้น ไม่ได้มีอุดมการณ์ต้องการปกป้องโลก ส่งเสริมคุณธรรม กอบกู้โลกจากความชั่วร้าย บลา บลา บลา อย่างซุปเปอร์ฮีโร่ท่านอื่นๆ

ความแค้น ความโกรธ ความเกลีัยดของชิโร่ ไม่มีใครเข้าใจ ตอนแรก V1 V2 ยังไม่บอมผ่าตัดแปลงร่างให้ชิโร่ แต่เนื่องจากชิโร่ได้ไปช่วย V1 V2 ขณะเสียท่าจนตัวเองเกือบตาย V1 V2 จึงยอมผ่าตัดเพื่อรักษาชีวิตชิโร่ จนได้เป็น Kamen Rider V3 ที่มีความลับ 26 อย่าง จักรยานยนต์คู่ใจคือ Hurricane และเข็มขัดแห่งชีวิต Double typhoon

ถ้าภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนี้ถูกสร้างในสมัยปัจจุบัน พล็อตความแค้นยังเอามาเล่นได้อีกมาก V3 ต้องระวังไม่ให้ความเกลียดชังเข้าครอบงำจิตใจ ไม่งั้น V3 จะเข้าสู่ด้านมืด หรือกลายพันธ์มากขึ้นจนควบคุมตัวเองไม่ได้ เป็นต้น

Fight! Kamen Rider V3

Akai Akai Akai kamen no V3
Double Typhoon inochi no Belt
Chikara to waza no fuusha ga mawaru
Chichi yo Haha yo imooto yo
Kaze no unari ni chi ga sakebi
Chikara no kagiri buchi ataru
Teki wa Jigoku no Destron
Tatakau seigi no Kamen Rider V3

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เชิญชม
www.kamenrider.net

วันศุกร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2551

วันหยุดยาว การสาดน้ำ และรายได้

ช่วงนี้วันเวลาก็ได้ล่วงเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์อีกครั้ง
ปีนี้เทศกาลยาวมาก คือ เสาร์ 12 เมษายน ไปถึงพุธ 16 เมษายน
รวม 5 วัน

ทำให้สัปดาห์สงกรานต์มีวันทำงานเพียงสองวัน คือ พฤหัส 17 - ศุกร์ 18 เมษา
บางคนก็ยินดีที่ได้หยุดพักผ่อนยาวๆ มีเวลาได้อยู่กับครอบครัวหลังทำงานมานาน 3 เดือน
คือตั้งแต่ช่วงปีใหม่.....

ผู้เขียนเลิกเล่นน้ำมานานหลายปี เนื่องจากเบื่อการเล่นน้ำ และรู้สึกเสียดายน้ำ
เข้าใจเองว่าปัจจุบันการเล่นน้ำสงกรานต์เปลี่ยนจากตอนผู้เขียนยังเด็กเยอะ
การละเล่นที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่
1. รุนแรงขึ้น ปืนฉีดน้ำอันใหญ่ๆไว้ก่อน น้ำแข็ง ลูกโป่งน้ำ ฯลฯ
2. สิ้นเปลืองมากขึ้น เล่นหลายวันขึ้น นั่งรถกระบะไปตามถนนในเมือง ใช้น้ำไม่ต้องยั้ง
3. มีการลวนลามมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ ถนนข้าวสาร แถมที่น่าแปลกใจก็คือทั้งๆที่รู้ว่ามีการลวนลาม
บรรดาสาวจริง สาวเทียมก็ยังคงนิยมไปเล่นน้ำที่ถนนข้าวสารอย่างสนุกสนาน
นี่ยังไม่ได้พูดถึงประเด็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ผู้ใหญ่ชอบพูดกัน เนื่องจากผู้เขียนยังไม่ใช่ผู้ใหญ่
จึงยังไม่อยากพูดเรื่องขนบธรรมเนียม และประเพณีสงกรานต์
เหตุผลต่างๆเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเบื่อสงกรานต์.....

เมื่อถึงวันหยุดยาว บรรดาประชาชนที่ดีใจ ได้แก่ ผู้มีเงินเดือนประจำทั้ง ข้าราชการ พนักงานบริษัท
ส่วนผู้ที่กุมขมับบ้าง สบายใจบ้างได้แก่ บรรดาผู้ประกอบกิจการ คนหาเช้ากินค่ำที่ขาดรายได้ยาว
ต่อเนื่อง 5-6 วัน ผู้เขียนเคยคิดว่าทำไมวันหยุดประเทศไทยเยอะแบบนี้ การค้าขายติดๆขัดๆตลอด
ทำกิจกรรมก็ติดวันหยุด ติดต่อหน่วยราชการลำบาก แต่พอคิดไปคิดมา คนส่วนใหญ่เขาก็ดีใจกันที่ได้
หยุดยาวถึงแม้จะเป็นลูกจ้างรายวัน เนื่องจากจะได้กลับไปเจอหน้าพ่อหน้าแม่เสียที....

แต่ไปๆมาๆอีกครั้งกลับคิดขึ้นได้ว่าทำไมบรรดาลูกจ้่างจะต้องกลับไปเยี่ยมบ้าน
เฉพาะช่วงเทศกาลด้วย วันหยุดทั้งปีอย่างน้อยก็เสาร์อาทิตย์ 52 x 2 = 104 วัน น่าเสียดายที่ค่านิยมคนทำงานต้องกลับบ้านไปเจอกันระหว่างช่วงสงกรานต์ทำให้
การเดินทางลำบาก บริษัทห้างร้านหยุดหมด
ถ้ากระจายวันกลับบ้านไปทั่วๆทั้งปีอาจจะทำให้ทุกคนได้กลับบ้านก็ได้ ไม่ต้องนอนค้างที่สถานีขนส่งเนื่องจากตกรถอยางทุกวันนี้

ขอให้ทุกคนมีความสุขเนื่องในวันสงกรานต์

วันจันทร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2551

ค่ายอาสาในรอบ 5 ปี

ผู้เีขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดลเป็นครั้งแรก
เมื่อปีพ.ศ. 2545 โดยเริ่มจากการร่วมกิจกรรมทำธงวันมหิดลทุกเย็นวันศุกร์ ตามคำชักชวนของรุ่นพีที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ต่อมาได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาครั้งที่ 36 ในเดือนมีนาคม 2547
ในฐานะ"น้องค่ายใหม่"่ การทำค่ายเป็นไปด้วยความสนุกสนาน แต่ในขณะเดียวกัน
ผู้เขียนได้สังเกตเห็นการทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย และความทรุดโทรมของร่างกาย
มากกว่าชาวค่ายทั่วไปของกรรมการค่าย อีกทั้งกรรมการค่ายก็ยังได้รับคำตำหนิ
จากบรรดาพี่ค่ายในเรื่องความบกพร่องของการทำงาน ผู้เขียนรู้สึกว่าการเป็นกรรมการ
เป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว ขณะเดียวกันก็เป็นที่น่านับถือในความพยายามที่จะ
ทำให้ค่ายอาสาสามารถดำเนินต่อไปได้

บรรยากาศค่าย 36 สำหรับผู้เขียนคือ เฉยๆ ในขณะที่ค่ายใหม่คนอื่นๆ
รู้สึกประทับใจกับบรรยากาศค่ายมาก อาจจะเนื่องจากผู้เขียนได้รู้จักกับพี่ค่ายมาก
จึงได้รับคำบอกกล่าวถึงสิ่งที่เคยเป็นมาก่อนในค่ายอาสาฯ เมื่อเปรียบเทียบ
กับสิ่งที่เิกิดขึ้นจริงๆ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเฉยๆกับบรรยากาศค่าย 36
แต่สิ่งที่ทำให้ี่รู้สึกประทับใจน่าจะเป็นการทำงานของกรรมการมากกว่า

ช่วงระหว่างที่เป็นนักศึกษาแพทย์ปี 3 ผู้เขียนได้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มมากขึ้นทั้งการทำธงวันมหิดล
ค่ายกลางปี (ในปีนี้เป็นค่ายอนุรักษ์ข้าว) สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้เขียนเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น
เพราะผู้เขียนเกิดความรู้สึกที่ดีจากค่ายอาสาฯ ที่ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสทำอะไร
ที่เรียกได้ว่า "สุดๆ" ของชีวิตบ้าง ผู้เขียนจึงอยากให้กลุ่มอาสาฯดำเนินต่อไป ต่อต่อไป

เมื่อถึงเวลาเลือกกรรมการค่ายอาสา เกิดปัญหาไม่สามารถหากรรมการฝ่ายโครงงานได้
ต้องเลื่อนการประชุมออกไป จนในที่สุดผู้เขียนถูกรบเร้าให้มาเป็นกรรมการโครงงาน
เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตครั้งหนึ่ง....

ค่าย 37 ที่ผู้เขียนได้เป็นกรรมการโครงงาน ผู้เขียนรู้สึกภาคภูมิใจกับตำแหน่งนี้มาก
ถึงแม้ท้ายที่สุด ตัวโรงเรียนที่เสร็จจะไม่ได้สวยงามอย่างที่ผู้เขียนวาดฝัน
ค่าย 37 เป็นค่ายที่พี่ค่ายต่างบอกกันว่ารู้สึกเฉยๆ
กรรมการไม่ได้ทะเลาะกัน แต่กรรมการฝ่ายโครงงานเองก็ไม่ได้เกิดความผูกพัน
ขึ้นอย่างวิเศษ แต่ความรูสึกโดยรวมสำหรับค่าย 37 ก็คือ Happy ending

ด้วยความประทับใจในการทำงานของหมู่คณะ ผู้เขียนจึงอยากทำให้
กลุ่มอาสาฯพัฒนายิ่งๆขึ้น จึงได้สมัครตำแหน่งประธานกลุ่มอาสาฯในปีต่อมา
ซึ่งผลก็คือได้เป็นรองประธานกลุ่มอาสาฯ แต่ผู้เขียนก็ดีใจ........

ค่าย 38 ที่ผู้เขียนได้เป็นรองผู้อำนวยการค่าย เป็นค่ายที่ผู้เขียนรู้สึกไม่ดีเอาเสียเลย
ถึงแม้ตอนจบค่ายจะดีใจเช่นเดียวกับทุกปี แต่เมื่อมองย้อนกลับไป ผู้เขียนรู้สึก
ว่าผู้เขียนทำงานไม่เต็มที่ กินแรง นอนมากเกิน ฯลฯ อยากไปให้ห่างๆกลุ่มอาสาฯ
ตอนนั้นรูสึกว่าค่าย 38 จบไม่สวยเลย....

เมื่อได้มาทำงานสำรวจโรงเรียนเก่าเพื่อเตรียมข้อมูลงาน 40 ปีกลุ่มอาสาฯ
ความรู้สึกดีๆก็เกิดมาอีกครั้งจากการได้ไปเยี่ยมโรงเรียนเก่าๆทำให้ผู้เขียนเกิด
แรงบันดาลใจในการทำให้กลุ่มอาสาดำเนินกิจกรรมต่อไปได้หลัง 40 ปี

เมื่อรุ่นน้องมาชวนให้ผู้เขียนเป็นผู้รักษาเวลาค่าย 39 ผู้เขียนก็เต็มใจ
ไปร่วมค่า่ย และอยากทำให้อะไรๆดีขึ้นในฐานะพี่ค่าย ซึ่งผลการดำเนินค่าย 39
ทำให้ผู้เขียนรู้สึกกระชุ่มกระชวย มีความยินดีกับค่ายอาสาฯมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว

แต่ในขณะเดียวกันผู้เขียนก็สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างของ
องค์ประกอบสามชิกของกลุ่มอาสา คือ จำนวนพี่ค่ายที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่มีจำนวนน้อยลง
คือ จะมีพี่ค่ยที่เป็นกรรมการเป็นส่วนใหญ่ที่จะไปเต็มๆค่ายได้ ในขณะที่พี่ค่าย"รุ่นเด็ก"
จะไปค่ายได้น้อยวันลง.....

ค่าย 39 ผู้เขียนต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯก่อนค่ายจบ แต่อย่างไรก็ดีความรู้สึกสนุกนะมี
แต่ความรู้สึกประทับใจแบบวันเก่าๆมันน้อยลง..... อย่างไม่ทราบเหตุผล

ช่วงปี 6 ผู้เขียนได้ห่างเหินกลุ่มอาสาฯไประดับหนึ่ง แต่ก็มีเวลาเข้าร่วมค่าย 40
ได้มากอย่างไม่คาดฝัน ค่าย 40 ที่เพิ่งผ่านไปทำให้ผู้เขียนรู้สึกสนุกสนานดี
แต่ในความสนุกนั้น ก็มีความกังวลเกิดขึ้นในจิตใจ รู้สึกถึงมรสุมลูกใหญ่
ที่กำลังคอยอยู่ที่ค่าย 41.......

เช่นกันกับค่าย 39 จำนวนพี่ค่ายรุ่นเด็กที่อยู่คู่กรรมการค่ายจนจบนั้นดูน้อยจริงๆ
ไม่ใช่ผู้เขียนคิดไปเอง แต่ทะเบียนค่ายสามารถยืนยันได้แน่ ว่าจำนวนพี่ค่ายรุ่นเด็ก
นั้นมาค่ายน้อยลงจริง.....

เมื่อผู้เขียนลองมานึกดู ว่าความประทับใจในค่ายอาสาฯมันน้อยลงอย่างไรก็ได้ดังนี้
1. จำนวนเพื่อนๆมาค่ายน้อยลง
2. การใช้ชีวิตในค่ายไม่แตกต่างจากการใช้ชีวิตปกติ
3. ทำงานกันเหนื่อยมาก....

น่าคิดว่ามันเกี่ยวข้องกันหรือเปล่าระหว่างความประทับใจที่น้อยลง
จนทำให้กลุ่มอาสาฯขาดผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่จะถูกผูกมัดไว้ด้วยความสัมพันธ์
ที่เรียกว่าลึกซึ่งกับกลุ่มอาสาฯ

อนาคตจะมีค่าย 41 หรือไม่ คงต้องได้แต่ใช้สำนวนที่ว่า
Time will tell, only time will tell

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2551

ยา

http://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=6955
บทความเกี่ยวกับบริษัทยา และวงการสาธารณสุข

เพื่อนของผู้เขียนได้มาอีกทอดหนึ่งจากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
ผู้เขียนเห็นว่าเป็นบทความที่น่าสนใจจึงนำไปเผยแพร่ในเวบบอร์ดฟ้าเดียวกัน
(ถ้านำมาลงในบล็อกจะมีปัญหาด้านการตัดคำ จึงเลือกที่ไปไว้ในเวบบอร์ดแทน)

วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2551

การเรียนการสอน....

มีเรื่องที่เคยได้ยินมาอยู่เรื่องหนึ่ง

มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ให้นักศึกษาเป็นผู้ที่สามารถกำหนดอาจารย์ผู้สอนในแต่ละวิชาได้
เนื่องจากยึดหลักที่ว่านักศึกษาที่เป็นผู้เรียนย่อมรู้ดีที่สุึดว่าอาจารย์คนไหนสมควร
สอนวิชาไหน ถามว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้จะสามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปสู่สังคมได้หรือไม่.....

คำตอบ คือ ไม่

เพราะนักศึกษาย่อมเลือกผู้สอนที่จะให้ผลประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด....
นักศึกษาจะเลือกผู้สอนที่ให้คะแนนดี ใจดี(ในความคิดของนักศึกษา) ปล่อยเกรดง่าย ฯลฯ
ทำให้มหาวิทยาลัยประสบความล้มเหลวในที่สุด....
เรื่องนี้ได้มาจากหนังสือ constitutionalism

อีกเรื่องหนึ่ง....
เกี่ยวกับกิจกรรมวิชาการเย็นวันศุกร์ที่คณะผู้เขียน ซึ่งจะจัดในเวลา 15.00-17.00 น.
ลักษณะกิจกรรมก็คือการบรรยายหัวข้อวิชาการ สลับกับเรื่องข่าวสารวงการแพทย์
บางสัปดาห์ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับกรณีศึกษาผู้ป่วยที่ยาก หรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ
เรียก CPC clinico-pathological conference
ในปีการศึกษาที่ผ่านมา
ฝ่ายการศึกษาของคณะผู้เขียน ได้อนุญาตให้นักศึกษาไม่ต้องเซ็นชื่อในการเข้าฟังบรรยาย
เนื่องจากรองคณบดีฯคนใหม่ไว้ใจในตัวนักศึกษา
นักศึกษาแพทย์เป็นผู้มีความรับผิดชอบ ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา
ไม่มีความจำเป็นต้องเซ็นชื่อเพื่อบังคับให้นักศึกษาเข้าฟัง.....

ผลก็คือ
นักศึกษาเข้าฟังบรรยายน้อยมาก ได้ข่าวว่าไม่ถึงครึ่ง

ทำให้ทางคณะเปลี่ยนใจให้นักศึกษาเซ็นชื่อเข้าฟังบรรยายเหมือนเดิม
เนื่องจากอะไร?
ผู้เขียนเดาเอาเองว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์
กิจกรรมนี้สามารถทำให้นักศึกษาสามารถพัฒนาความรู้ได้
ทำให้นักศึกษาเป็นคนที่มีคุณภาพ ฯลฯ

ซึ่งทางคณะได้พิจารณาแล้ว
คิดว่ากิจกรรมนี้มีประโยชน์ต่อนักศึกษาแน่ๆ
จึงจัดกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อนักศึกษาเอง.....

วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ค่ายอาสาพัฒนากับสังคมที่เปลี่ยนไป

ค่ายอาสาพัฒนาเป็นกิจกรรมชมรมคู่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมานาน กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดลเองก็มีอายุถึงสี่ทศวรรษ เป็นกิจกรรมในฝันของหนุ่มสาวที่เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยที่อยากจะมีส่วนร่วม
ในการพัฒนาสังคม เป็นกิจกรรมที่ถูกกล่าวขานตามสื่อต่างๆถึงความดีงามของนักศึกษา
ที่เสียสละแรงกายแรงใจทำค่าย


บทความชิ้นนี้เป็นการรวบรวมความรู้ของผู้เขียนที่มีเกี่ยวกับการดำเนินงานค่ายอาสาฯ
ในประเทศไทย ไม่จำเพาะเจาะจงถึงมหาวิทยาลัยใดโดยเฉพาะ และตั้งคำถามต่อการ
ดำเนินกิจกรรมค่ายอาสาฯในสังคมไทยปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ของค่ายอาสา
ค่ายอาสาฯของมหาวิทยาลัยต่างๆย่อมมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานแตกต่างกัน ขึ้นกับผู้จัดตั้งชมรมอาสาฯนั้นๆ หรือคณะกรรมการดำเนินงานในปีนั้นๆ ซึ่งถ้ากล่าวโดยสรุป วัตถุประสงค์หลักของค่ายอาสาฯจะมีอยู่สองข้อ คือ ๑) พัฒนาตัวนักศึกษาผู้ดำเนินกิจกรรม และ ๒) พัฒนาสังคม (เช่น การสร้างถาวรวัตถุ การพัฒนาสิ่งแวดล้อม) การดำเนินงานค่ายอาสาฯก็จะอิงกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์อื่นๆตามแต่โอกาส เช่น ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ หรือเฉลิมพระเกียรติฯ

ค่ายอาสากับการช่วยเหลือสังคม
ในช่วงแรกของการดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พื้นที่ในชนบทเป็นแหล่งทุรกันดารมาก เนื่องจากรัฐยังกระจายความเจริญไปไม่ถึง ชาวค่ายฯเป็นผู้บุกเบิกความเจริญผ่านทางกิจกรรมของค่ายอาสาฯ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวัตถุ เช่น การสร้างอาคารเรียน หรือทางสังคม เช่น การเดินทางของผู้ว่าราชการจังหวัดไปยังอำเภอนั้นๆเป็นครั้งแรก การสร้างแรงบันดาลใจกับเด็กนักเรียนในพื้นที่ ฯลฯ ซึ่งขณะนี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯได้ดำเนินมาถึงฉบับที่ 10 แล้ว สภาพสังคมชนบทในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมาก คนวัยหนุ่มสาวเข้ามาทำงานในเมือง ความแพร่หลายของโทรศัพท์มือถือ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นโจทย์สำคัญของค่ายอาสาฯในการดำเนินงานต่อไปภายใต้สังคมปัจจุบัน


ค่ายอาสากับการฝึกปฏิบัติงาน
นักศึกษาหลายคนมองว่าการเข้ามาทำงานในกิจกรรมค่ายอาสาฯเป็นโอกาสอันดีในการฝึกปฏิบัติงาน ฝึกกระบวนการคิด การบริหารจัดการ เพื่อประโยชน์ในการทำงานในอนาคต โดยมองการช่วยเหลือสังคมเป็นเรื่องรองลงไป ผู้เขียนมองว่าจุดมุ่งหมายในการทำงานเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่สามารถบังคับได้ แต่มุมมองเหล่านี้ได้ถูกต่อต้านจากอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมค่ายอาสาฯในเวบไซต์แห่งหนึ่ง โดยให้เหตุผลว่านักศึกษาไม่ได้กระทำตนให้เป็นประโยชน์กับสังคมสมกับที่ประชาชนได้จ่ายภาษี และไม่ได้ทำเพื่อมวลชนจริงตามสัญญาประชาคมที่ได้ให้ไว้ ซึ่งเป็นมุมมองที่น่าสนใจ


ปัจจุบันอันโหดร้าย
การดำเนินงานค่ายอาสาในปัจจุบันเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ชีวิตการเป็นนักศึกษามีสิ่งต้องทำเยอะขึ้น เวลาที่นักศึกษาสามารถทุ่มเทกับการทำงานค่ายอาสาฯมีน้อยลง การกระจายอำนาจการปกครองไปยังท้องถิ่น นอกจากนี้ กิจกรรมค่ายอาสาฯยังได้รับเงินสนับสนุนจากทางมหาวิทยาลัยน้อยเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย ทางค่ายอาสาฯต้องดิ้นรนหาเงินทุนจากแหล่งต่างๆมากขึ้น กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อาจจะต้องลดลงเพื่อให้ได้มาซึ่งการหาเงินทุน

การเข้ามาของกลุ่มทุน
เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตามสภาพเศรษฐกิจ ค่ายอาสาฯได้ปรับตัวเปิดรับทุนจากภาคเอกชนมากขึ้น เช่น บริษัทผลิตเครื่องดื่มบำรุงกำลัง บริษัทผลิตวัสดุก่อสร้างที่เปิดใหม่และต้องการทำตลาด เป็นประเด็นที่น่าตั้งคำถามต่อการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชนว่าเป็นการสมควรหรือไม่ เป็นการขัดต่ออุดมการณ์ เป็นการยอมสยบต่อกลุ่มทุน หรือเป็นสถานการณ์ที่ยอมรับได้ คือ ค่ายได้เงิน บริษัทได้รับการประชาสัมพันธ์เชิงบวกกับมวลชน เป็น win-win situation หรือไม่

อนาคต?
โดยภาพรวมค่ายอาสาฯเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์กับทั้งสังคม และนักศึกษาผู้ร่วมกิจกรรม แต่ภายใต้สภาพสังคมปัจจุบัน ค่ายอาสาฯจะดำเนินการต่อไปได้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกในชมรม ช่วยกันแก้โจทย์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และกิจกรรมของค่ายอาสาฯควรมีการปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลง ปรับสภาพให้ยืดหยุ่นไปตามสภาพสังคม แต่ก็ต้องพึงยึดมั่นในวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งค่าย เพื่อไม่ให้ค่ายอาสาฯเสียความเป็นตัวของตัวเองไป สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอฝากข้อความที่อยู่ในใจผู้เขียนเสมอเมื่อนึกถึงค่ายอาสาฯ “ชาวค่ายสร้างโรงเรียน โรงเรียนก็สร้างชาวค่าย”