วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ข้อเสนอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๑

เรียน ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๔๒๒ ถนนพญาไท แขวงวังใหม่
เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ๑๐๓๓๐

เรื่อง: ข้อเสนอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ความรุนแรงจากการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่หน้ารัฐสภา โดยมีนายสุรสีห์ โกศลนาวิน เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ภายใต้อำนาจหน้าที่ของ กสม.

กลุ่มประชาชนผู้ห่วงใยประเทศไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการของนักกิจกรรม นักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนที่ได้ติดตามสถานการณ์การเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการจัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ดังกล่าว และขอแสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้องดังนี้:

๑.คณะอนุกรรมการฯ ต้องดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่การละเมิดสิทธิฯโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการกระทำของกลุ่ม พธม. ด้วย โดยอาศัยหลักการของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง (ICCPR) ที่รัฐบาลไทยได้ให้การภาคยานุวัติเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๙ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติและมีความเอนเอียงทางการเมือง เนื่องจากได้มีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นเดียวกัน เช่น:
·กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายถูกผู้ชุมนุมกลุ่มพธม.ใช้ด้ามธงแทงเข้าจนทะลุปอด ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส
·กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกยิงจนบาดเจ็บสาหัส
·กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกผู้ชุมนุมขับรถชนหลายนาย
·กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ถูกผู้ชุมนุมรุมทำร้ายทุบตีร่างกายและศีรษะจนสมองบวม
เป็นต้น

๒.คณะอนุกรรมการฯ ต้องดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกลุ่มพธม.ที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ด้วย ทั้งนี้ อาจจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาโดยเฉพาะ หรือขยายบทบาทหน้าที่ (mandate) ของคณะอนุกรรมการฯ นี้ก็ได้ โดยจะต้องดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย:
·การปะทะกันที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่ม พธม. และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๑ โดยเฉพาะการเสียชีวิตของณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสงและการบาดเจ็บของทั้งสองฝ่าย ซึ่งในกรณีนี้ ควรตรวจสอบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกลุ่มพธม. หรือกลุ่มนปช. หรือทั้งสองฝ่ายหรือไม่ ว่าเป็นการละเมิดสิทธิภายใต้มาตรา 6 ของ ICCPR ที่ว่า “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตมาแต่กำเนิด...บุคคลจะต้องไม่ถูกทำให้เสียชีวิตโดยอำเภอใจ” หรือไม่
·การที่ พธม. กล่าวปราศรัย และใช้พื้นที่สื่อในเครือผู้จัดการบิดเบือนข้อมูล โจมตีทำลายชื่อเสียง และสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นต่อนักกิจกรรม นักวิชาการ และนักสหภาพแรงงาน ที่มีความคิดเห็นและ/หรือข้อเสนอทางการเมืองต่างจากของกลุ่ม พธม. (อาทิ กรณี รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ จอน อึ๊งภากรณ์ รศ.ดร.โคทม อารียา ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล โชติศักดิ์ อ่อนสูง จิตรา คชเดช สมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นต้น) อันเป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ ในบางกรณีได้มีการเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงต่อคนเหล่านั้นอีกด้วย ถือเป็นการขัดต่อข้อ 19 ของ ICCPR ที่ว่า “การใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกมีข้อจำกัด ในการเคารพสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่น” และ ข้อ 20 ข้อย่อย 2 ที่ว่า “การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในชาติ เผ่าพันธุ์ หรือ ...ซึ่งยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การเป็นฏิปักษ์หรือการใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย”
·การบุกยึดทำเนียบรัฐบาลและสถานีโทรทัศน์ NBT การปิดล้อมรัฐสภา ตลอดจนการชุมนุมโดยมีอาวุธในครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นมีด หนังสติ๊ก ท่อเหล็ก ปืน หลาย ๆ กรณี ของพธม. รวมทั้งวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ตามที่ปรากฏในรายงานข่าวทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เนื่องจากตามมาตรา 21 ของ ICCPR ที่ว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับความคุ้มครอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจาก ... เพื่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่สามารถทำได้ ถ้าเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น

ทางกลุ่มฯ ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นเสาหลักในการเสริมสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชน ตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ปรากฏในหลักการปารีส (Paris Principles)

ที่สำคัญ กลุ่มฯ ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคอยเฝ้าระวังและตรวจสอบการกระทำของทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ ทั้งนี้ เพื่อสร้างสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง

ขอแสดงความนับถือ

ไม่มีความคิดเห็น: