วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2551

ความหมายของอุดมการณ์

ผู้เขียนสนใจเรื่องความหมายของคำว่าอุดมการณ์
จึงได้ลองค้นคว้าความรู้แบบคนสมัยศตวรรษที่ 21 นิยมทำกัน
นั่นคือการค้นคำในเวบไซต์ กูเกิ้ลดอทคอม

ได้พบความหมายต่างๆที่น่าสนใจ ดังนี้

อุดมการณ์ คือ ความเชื่อความศรัทธา ตามแนวคิด ทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งโดยคิดขึ้นเอง หรือมีคนคิดไว้แล้วและมีความมุ่งมั่นที่จะทำตามความคิดนั้น อุดมการณ์ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไปอาจเป็นสื่งที่ดีหรือไม่ดีก็ได้
คำว่าอุดมการณ์นำมาใช้ครั้งแรกในปี 1707(พ.ศ. 2340)โดยนักวิชาการฝรั่งเศสชื่อ Antonie Louis claude Destutt de -Tracy


อุดมการณ์ แยกศัพท์ เป็น อุ+ตม+การณํ แปลว่า การกระทำให้สูงสูดหรือ การกระทำให้สูงขึ้น


Ideal (ไอเดียล') n. อุดมคติ,อุดมการณ์ adj. ดีเลิศ,สมบูรณ์,เป็นเพียงความนึกฝัน,เพ้อฝัน,ไม่มีจริง,ไม่เป็นความจริง,เกี่ยวกับอุดมการณ์,เกี่ยวกับอุดมคติ คำที่มีความหมายเหมือนกัน: fancied,imaginary


ความหมายที่ได้มาค่อยข้างตรงกับใจผู้เขียน
ในความคิดของผู้เขียน
อุดมการณ์โดยตัวมันเองเป็นสิ่งกลางๆ ไม่มีความดี-ความชั่ว
เป็นเหมือนสิ่งที่เหนี่ยวนำความคิด-พฤติกรรมของบุคคลให้เป็นไปตามอุดมการณ์ของบุคคลนั้นๆ
อุดมการณ์เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของทุกคน
เพราะจะทำให้บุคคลนั้นทำสิ่งต่างๆอย่างเต็มความสามารถ
และมีโอกาสทำได้สำเร็จตามความแรงกล้าของอุดมการณ์ตนเอง

อย่างที่ผู้เขียนคิดเอง และที่ค้นมา อุดมการณ์ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับความดี
บางคนมีอุดมการณ์อยู่ที่การเป็นคนร่ำรวยที่สุดในโลก
ถ้าเขามีอุดมการณ์ที่แรงกล้าในการทำให้ตัวเองรวย
สักวันหนึ่งเขาก็จะทำได้สำเร็จ
ซึ่งอาจจะใช้วิธีไหนก็ได้.....

คำอีกคำที่ผู้เขียนคิดว่าใกล้เคียงกับอุดมการณ์คือความมุ่งมั่น
ซึ่งความมุ่งมั่นจะเกิดในคนที่มีอุดมการณ์แรงๆ
การ์ตูนเรื่องล่าข้ามศตวรรษมีตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับความมุ่งมั่น
ในภาคหนึ่งโจโจ้ตัวเอกของเรื่องได้ต่อสู้กับสปีดวาก้อน (เป็นชื่อคนที่ประหลาดจริงๆ : Speed wagon)
สปีดวาก้อนสงสัยว่าทำไมเขาจึงสู้โจโจ้ไม่ได้ ทั้งๆที่เขามีอาวุธ
โจโจ้ตอบว่า เพราะเขาแบกชื่อเสียงของตระกูลโจสตาร์ไว้
เขามีความต้องการกอบกู้ตระกูลของตัวเอง
ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นที่สูงส่ง เขาจึงไม่เกรงกลัวอาวุธของสปีดวาก้อนแม้แต่น้อย
ในขณะที่สปีดวาก้อนสู้เพื่อค่าจ้าง(เงิน) ชาตินี้ยังไงก็สู้เขาไม่ได้
เพราะความมุ่งมั่นระดับต่างกัน สปีดวาก้อนจึงพ่ายแพ้ต่อโจโจ้....

เท่าที่อ่านความเห็นตามเวบบอร์ดผู้เขียนสังเกตว่า คนสมัยปัจจุบัน(ตามที่ผู้เขียนเข้าใจ คืออนุมานว่าคนที่เล่นอินเตอร์เนต และให้ความเห็นในเวบบอร์ดส่วนใหญ่เป็นคนปัจจุบัน)ไม่ได้รู้สึกว่าอุดมการณ์เป็นสิ่งที่น่าถวิลหาเท่าไหร่นัก คนในอินเตอร์เนตมักเห็นว่าอุดมการณ์เป็นเรื่องเพ้อฝัน คนที่มีอุดมการณ์ไม่ยอมอยู๋ในโลกของความเป็นจริง มากไปกว่านั้นคิดว่าอุดมการณ์ไม่มีอยู่จริง ใครกันจะบ้าทำอะไรตามความฝันของตัวเองได้ทุกอย่าง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจที่ต้องดิ้นรน ทำงานหาเงินมากๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนสมัยปัจจุบันทำตามอุดมการณ์ของตัวเองได้ยาก พาลไปคิดว่าการทำตามอุดมการณ์เป็นไปไม่ได้....

ยังมีต่อ....

วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2551

สาเหตุที่เลือกเรียนนิติเวชฯ

มีรุ่นน้องถามผู้เขียนบ่อยๆ ว่าทำไมจึงเลือกเรียนนิติเวชศาสตร์
จึงลองเรียบเรียงเหตุผลของตัวเองดู ทำให้ได้ข้อสรุปดังนี้

๑. มีความประทับใจในวิชานิติเวชศาสตร์
เริ่มจากการได้อ่านหนังสือชวนชันสูตรชอง อาจารย์วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์
เมื่อช่วงเรียนปี ๑ ผู้เขียนรู้สึกติดใจในเนื้อหาวิชา และการทำงานของแพทย์นิติเวชฯ
และตั้งความฝันไว้ว่าอยากเป็นหมอนิติเวชฯอย่างอาจารย์บ้าง
ถึงแม้ระหว่างเรียนแพทย์จะมีวิชาอื่นมาทำให้ไขว้เขวบ้าง แต่ในที่สุดผู้เขียนก็มาเรียนนิติเวชในที่สุด

ประโยคเด็ดในหนังสือเล่มนั้น คือ "ข้าพเจ้าเกลียดระบบเส้นสายเป็นที่สุด" เป็น ideology
ที่ผู้เขียนชอบมาก

หลังจากนั้นก็ได้ติดตามผลงานของอาจารย์ภาควิชานิติเวชฯมาเรื่อยๆ ทั้งบทความนิติเวชสาธก หนังสือกฎหมาย และบทความแสดงความเห็นทางกฎหมายที่อาจารย์ท่านต่างๆเขียน

ภาควิชานิติเวชศาสตร์ได้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สำคัญต่างๆของประเทศไทยมากมาย
เท่าที่ผู้เขียนลองไล่ได้ในฐานะประชาชนทั่วไปคนหนึ่ง มีดังนี้

-กรณีสววรคตเมื่อ มิถุนายน ๒๔๘๙ (the first and ever autopsy of royal family member)
-เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ (ซึ่งเหตุการณ์ในปี ๒๕๑๙ ภาควิชาฯคงไม่มีส่วนร่วมมากนัก เพราะมีคนตายคนเดียว....)
-คดีศยามล และซีอุย
-ภัยพิบัติ Tsunami ที่ภาคใต้เมื่อปี ๒๕๔๗

๒.ความต้องการเป็นอาจารย์แพทย์
เนื่องจากทางภาควิชาฯเปิดโอกาส นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้เขียนสนใจภาควิชานิติเวชศาสตร์ หน้าที่ของอาจารย์แพทย์ประกอบด้วยงาน ๓ ส่วน ได้แก่ งานบริการ การสอน และการวิจัย นอกจากนี้ผู้เขียนมีครูแพทย์ที่อยู่ในใจ และต้องการดำเนินรอยตามหลายท่าน หนึ่งในนั้นเช่น อาจารย์อวย เกตุสิงห์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดลที่

๓.โอกาสได้เรียนกฎหมาย
ซึ่งผู้เขียนได้สมัครเรียนกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสอบผ่านแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เริ่มเรียนรู้สาขาวิชาทางด้านสังคมศาสตร์อย่างนิติศาสตร์บ้าง และจะได้นำความรู้ทางกฎหมายมาช่วยเหลือเพื่อนแพทย์ และประชาชนชาวไทยต่อไป

นอกจากเหตุผลหลัก ๓ ข้อนี้ ก็คงมีปัจจัยสนับสนุนอีกหลายอย่างที่ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจเช่นนี้
ผู้เขียนคิดว่าผู้เขียนตัดสินใจได้ถูกต้องแล้ว และถ้าให้ตัดสินใจอีกครั้งก็คงเป็นเช่นเดิม...

วันอังคารที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2551

รวมเพลงคาเมนไรเดอร์

เนื่องจากช่วงนี้ผู้เขียนว่าง
และมีโอกาสเล่นเวบ Imeem
จึงสามารถทำ list เพลง OP ของเหล่าคาเมนไรเดอร์ยุคคลาสสิก
โดยคัดเอาเฉพาะเพลงที่ผู้เขียนชอบ ได้แก่
V1, V2, V3, Kamen rider X, Amazon, Stronger, Super One และ Black
เชิญฟัง

วันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2551

Fight! Kamen Rider V3

ในจำนวนคาเมนไรเดอร์ยุคคลาสสิก (V1 - kamen rider RX)

ผู้เขียนชอบ V3 มากที่สุด

คาซามิ ชิโร่เป็นเด็กหนุ่ม (หรือเป็นชายวัยหนุ่ม?) ธรรมดาๆ ที่พ่อ แม่ และน้องสาวถูกลูกจ้าง (ที่เป็นมนุษย์แปลง) ขององค์กรก่อการร้าย Destron ฆ่ายกครัว

เรื่องราวเกิดในตอนแรกของซี่รีย์นี้ หลังรู้ว่าบ้านขจองตัวเองถูกฆ่ายกครัว ชิโร่จึงต้องการแก้แค้นให้กับครอบครัว นี่เป็นพล็อตที่ถูกใจผู้เขียนมาก เพราะเป็นพล็อตที่ทรงพลัง มีแต่ความต้องการล้างแค้น ไม่ได้มีอุดมการณ์ต้องการปกป้องโลก ส่งเสริมคุณธรรม กอบกู้โลกจากความชั่วร้าย บลา บลา บลา อย่างซุปเปอร์ฮีโร่ท่านอื่นๆ

ความแค้น ความโกรธ ความเกลีัยดของชิโร่ ไม่มีใครเข้าใจ ตอนแรก V1 V2 ยังไม่บอมผ่าตัดแปลงร่างให้ชิโร่ แต่เนื่องจากชิโร่ได้ไปช่วย V1 V2 ขณะเสียท่าจนตัวเองเกือบตาย V1 V2 จึงยอมผ่าตัดเพื่อรักษาชีวิตชิโร่ จนได้เป็น Kamen Rider V3 ที่มีความลับ 26 อย่าง จักรยานยนต์คู่ใจคือ Hurricane และเข็มขัดแห่งชีวิต Double typhoon

ถ้าภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนี้ถูกสร้างในสมัยปัจจุบัน พล็อตความแค้นยังเอามาเล่นได้อีกมาก V3 ต้องระวังไม่ให้ความเกลียดชังเข้าครอบงำจิตใจ ไม่งั้น V3 จะเข้าสู่ด้านมืด หรือกลายพันธ์มากขึ้นจนควบคุมตัวเองไม่ได้ เป็นต้น

Fight! Kamen Rider V3

Akai Akai Akai kamen no V3
Double Typhoon inochi no Belt
Chikara to waza no fuusha ga mawaru
Chichi yo Haha yo imooto yo
Kaze no unari ni chi ga sakebi
Chikara no kagiri buchi ataru
Teki wa Jigoku no Destron
Tatakau seigi no Kamen Rider V3

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เชิญชม
www.kamenrider.net

วันศุกร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2551

วันหยุดยาว การสาดน้ำ และรายได้

ช่วงนี้วันเวลาก็ได้ล่วงเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์อีกครั้ง
ปีนี้เทศกาลยาวมาก คือ เสาร์ 12 เมษายน ไปถึงพุธ 16 เมษายน
รวม 5 วัน

ทำให้สัปดาห์สงกรานต์มีวันทำงานเพียงสองวัน คือ พฤหัส 17 - ศุกร์ 18 เมษา
บางคนก็ยินดีที่ได้หยุดพักผ่อนยาวๆ มีเวลาได้อยู่กับครอบครัวหลังทำงานมานาน 3 เดือน
คือตั้งแต่ช่วงปีใหม่.....

ผู้เขียนเลิกเล่นน้ำมานานหลายปี เนื่องจากเบื่อการเล่นน้ำ และรู้สึกเสียดายน้ำ
เข้าใจเองว่าปัจจุบันการเล่นน้ำสงกรานต์เปลี่ยนจากตอนผู้เขียนยังเด็กเยอะ
การละเล่นที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่
1. รุนแรงขึ้น ปืนฉีดน้ำอันใหญ่ๆไว้ก่อน น้ำแข็ง ลูกโป่งน้ำ ฯลฯ
2. สิ้นเปลืองมากขึ้น เล่นหลายวันขึ้น นั่งรถกระบะไปตามถนนในเมือง ใช้น้ำไม่ต้องยั้ง
3. มีการลวนลามมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ ถนนข้าวสาร แถมที่น่าแปลกใจก็คือทั้งๆที่รู้ว่ามีการลวนลาม
บรรดาสาวจริง สาวเทียมก็ยังคงนิยมไปเล่นน้ำที่ถนนข้าวสารอย่างสนุกสนาน
นี่ยังไม่ได้พูดถึงประเด็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ผู้ใหญ่ชอบพูดกัน เนื่องจากผู้เขียนยังไม่ใช่ผู้ใหญ่
จึงยังไม่อยากพูดเรื่องขนบธรรมเนียม และประเพณีสงกรานต์
เหตุผลต่างๆเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเบื่อสงกรานต์.....

เมื่อถึงวันหยุดยาว บรรดาประชาชนที่ดีใจ ได้แก่ ผู้มีเงินเดือนประจำทั้ง ข้าราชการ พนักงานบริษัท
ส่วนผู้ที่กุมขมับบ้าง สบายใจบ้างได้แก่ บรรดาผู้ประกอบกิจการ คนหาเช้ากินค่ำที่ขาดรายได้ยาว
ต่อเนื่อง 5-6 วัน ผู้เขียนเคยคิดว่าทำไมวันหยุดประเทศไทยเยอะแบบนี้ การค้าขายติดๆขัดๆตลอด
ทำกิจกรรมก็ติดวันหยุด ติดต่อหน่วยราชการลำบาก แต่พอคิดไปคิดมา คนส่วนใหญ่เขาก็ดีใจกันที่ได้
หยุดยาวถึงแม้จะเป็นลูกจ้างรายวัน เนื่องจากจะได้กลับไปเจอหน้าพ่อหน้าแม่เสียที....

แต่ไปๆมาๆอีกครั้งกลับคิดขึ้นได้ว่าทำไมบรรดาลูกจ้่างจะต้องกลับไปเยี่ยมบ้าน
เฉพาะช่วงเทศกาลด้วย วันหยุดทั้งปีอย่างน้อยก็เสาร์อาทิตย์ 52 x 2 = 104 วัน น่าเสียดายที่ค่านิยมคนทำงานต้องกลับบ้านไปเจอกันระหว่างช่วงสงกรานต์ทำให้
การเดินทางลำบาก บริษัทห้างร้านหยุดหมด
ถ้ากระจายวันกลับบ้านไปทั่วๆทั้งปีอาจจะทำให้ทุกคนได้กลับบ้านก็ได้ ไม่ต้องนอนค้างที่สถานีขนส่งเนื่องจากตกรถอยางทุกวันนี้

ขอให้ทุกคนมีความสุขเนื่องในวันสงกรานต์

วันจันทร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2551

ค่ายอาสาในรอบ 5 ปี

ผู้เีขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดลเป็นครั้งแรก
เมื่อปีพ.ศ. 2545 โดยเริ่มจากการร่วมกิจกรรมทำธงวันมหิดลทุกเย็นวันศุกร์ ตามคำชักชวนของรุ่นพีที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ต่อมาได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาครั้งที่ 36 ในเดือนมีนาคม 2547
ในฐานะ"น้องค่ายใหม่"่ การทำค่ายเป็นไปด้วยความสนุกสนาน แต่ในขณะเดียวกัน
ผู้เขียนได้สังเกตเห็นการทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย และความทรุดโทรมของร่างกาย
มากกว่าชาวค่ายทั่วไปของกรรมการค่าย อีกทั้งกรรมการค่ายก็ยังได้รับคำตำหนิ
จากบรรดาพี่ค่ายในเรื่องความบกพร่องของการทำงาน ผู้เขียนรู้สึกว่าการเป็นกรรมการ
เป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว ขณะเดียวกันก็เป็นที่น่านับถือในความพยายามที่จะ
ทำให้ค่ายอาสาสามารถดำเนินต่อไปได้

บรรยากาศค่าย 36 สำหรับผู้เขียนคือ เฉยๆ ในขณะที่ค่ายใหม่คนอื่นๆ
รู้สึกประทับใจกับบรรยากาศค่ายมาก อาจจะเนื่องจากผู้เขียนได้รู้จักกับพี่ค่ายมาก
จึงได้รับคำบอกกล่าวถึงสิ่งที่เคยเป็นมาก่อนในค่ายอาสาฯ เมื่อเปรียบเทียบ
กับสิ่งที่เิกิดขึ้นจริงๆ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเฉยๆกับบรรยากาศค่าย 36
แต่สิ่งที่ทำให้ี่รู้สึกประทับใจน่าจะเป็นการทำงานของกรรมการมากกว่า

ช่วงระหว่างที่เป็นนักศึกษาแพทย์ปี 3 ผู้เขียนได้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มมากขึ้นทั้งการทำธงวันมหิดล
ค่ายกลางปี (ในปีนี้เป็นค่ายอนุรักษ์ข้าว) สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้เขียนเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น
เพราะผู้เขียนเกิดความรู้สึกที่ดีจากค่ายอาสาฯ ที่ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสทำอะไร
ที่เรียกได้ว่า "สุดๆ" ของชีวิตบ้าง ผู้เขียนจึงอยากให้กลุ่มอาสาฯดำเนินต่อไป ต่อต่อไป

เมื่อถึงเวลาเลือกกรรมการค่ายอาสา เกิดปัญหาไม่สามารถหากรรมการฝ่ายโครงงานได้
ต้องเลื่อนการประชุมออกไป จนในที่สุดผู้เขียนถูกรบเร้าให้มาเป็นกรรมการโครงงาน
เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตครั้งหนึ่ง....

ค่าย 37 ที่ผู้เขียนได้เป็นกรรมการโครงงาน ผู้เขียนรู้สึกภาคภูมิใจกับตำแหน่งนี้มาก
ถึงแม้ท้ายที่สุด ตัวโรงเรียนที่เสร็จจะไม่ได้สวยงามอย่างที่ผู้เขียนวาดฝัน
ค่าย 37 เป็นค่ายที่พี่ค่ายต่างบอกกันว่ารู้สึกเฉยๆ
กรรมการไม่ได้ทะเลาะกัน แต่กรรมการฝ่ายโครงงานเองก็ไม่ได้เกิดความผูกพัน
ขึ้นอย่างวิเศษ แต่ความรูสึกโดยรวมสำหรับค่าย 37 ก็คือ Happy ending

ด้วยความประทับใจในการทำงานของหมู่คณะ ผู้เขียนจึงอยากทำให้
กลุ่มอาสาฯพัฒนายิ่งๆขึ้น จึงได้สมัครตำแหน่งประธานกลุ่มอาสาฯในปีต่อมา
ซึ่งผลก็คือได้เป็นรองประธานกลุ่มอาสาฯ แต่ผู้เขียนก็ดีใจ........

ค่าย 38 ที่ผู้เขียนได้เป็นรองผู้อำนวยการค่าย เป็นค่ายที่ผู้เขียนรู้สึกไม่ดีเอาเสียเลย
ถึงแม้ตอนจบค่ายจะดีใจเช่นเดียวกับทุกปี แต่เมื่อมองย้อนกลับไป ผู้เขียนรู้สึก
ว่าผู้เขียนทำงานไม่เต็มที่ กินแรง นอนมากเกิน ฯลฯ อยากไปให้ห่างๆกลุ่มอาสาฯ
ตอนนั้นรูสึกว่าค่าย 38 จบไม่สวยเลย....

เมื่อได้มาทำงานสำรวจโรงเรียนเก่าเพื่อเตรียมข้อมูลงาน 40 ปีกลุ่มอาสาฯ
ความรู้สึกดีๆก็เกิดมาอีกครั้งจากการได้ไปเยี่ยมโรงเรียนเก่าๆทำให้ผู้เขียนเกิด
แรงบันดาลใจในการทำให้กลุ่มอาสาดำเนินกิจกรรมต่อไปได้หลัง 40 ปี

เมื่อรุ่นน้องมาชวนให้ผู้เขียนเป็นผู้รักษาเวลาค่าย 39 ผู้เขียนก็เต็มใจ
ไปร่วมค่า่ย และอยากทำให้อะไรๆดีขึ้นในฐานะพี่ค่าย ซึ่งผลการดำเนินค่าย 39
ทำให้ผู้เขียนรู้สึกกระชุ่มกระชวย มีความยินดีกับค่ายอาสาฯมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว

แต่ในขณะเดียวกันผู้เขียนก็สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างของ
องค์ประกอบสามชิกของกลุ่มอาสา คือ จำนวนพี่ค่ายที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่มีจำนวนน้อยลง
คือ จะมีพี่ค่ยที่เป็นกรรมการเป็นส่วนใหญ่ที่จะไปเต็มๆค่ายได้ ในขณะที่พี่ค่าย"รุ่นเด็ก"
จะไปค่ายได้น้อยวันลง.....

ค่าย 39 ผู้เขียนต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯก่อนค่ายจบ แต่อย่างไรก็ดีความรู้สึกสนุกนะมี
แต่ความรู้สึกประทับใจแบบวันเก่าๆมันน้อยลง..... อย่างไม่ทราบเหตุผล

ช่วงปี 6 ผู้เขียนได้ห่างเหินกลุ่มอาสาฯไประดับหนึ่ง แต่ก็มีเวลาเข้าร่วมค่าย 40
ได้มากอย่างไม่คาดฝัน ค่าย 40 ที่เพิ่งผ่านไปทำให้ผู้เขียนรู้สึกสนุกสนานดี
แต่ในความสนุกนั้น ก็มีความกังวลเกิดขึ้นในจิตใจ รู้สึกถึงมรสุมลูกใหญ่
ที่กำลังคอยอยู่ที่ค่าย 41.......

เช่นกันกับค่าย 39 จำนวนพี่ค่ายรุ่นเด็กที่อยู่คู่กรรมการค่ายจนจบนั้นดูน้อยจริงๆ
ไม่ใช่ผู้เขียนคิดไปเอง แต่ทะเบียนค่ายสามารถยืนยันได้แน่ ว่าจำนวนพี่ค่ายรุ่นเด็ก
นั้นมาค่ายน้อยลงจริง.....

เมื่อผู้เขียนลองมานึกดู ว่าความประทับใจในค่ายอาสาฯมันน้อยลงอย่างไรก็ได้ดังนี้
1. จำนวนเพื่อนๆมาค่ายน้อยลง
2. การใช้ชีวิตในค่ายไม่แตกต่างจากการใช้ชีวิตปกติ
3. ทำงานกันเหนื่อยมาก....

น่าคิดว่ามันเกี่ยวข้องกันหรือเปล่าระหว่างความประทับใจที่น้อยลง
จนทำให้กลุ่มอาสาฯขาดผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่จะถูกผูกมัดไว้ด้วยความสัมพันธ์
ที่เรียกว่าลึกซึ่งกับกลุ่มอาสาฯ

อนาคตจะมีค่าย 41 หรือไม่ คงต้องได้แต่ใช้สำนวนที่ว่า
Time will tell, only time will tell

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2551

ยา

http://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=6955
บทความเกี่ยวกับบริษัทยา และวงการสาธารณสุข

เพื่อนของผู้เขียนได้มาอีกทอดหนึ่งจากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
ผู้เขียนเห็นว่าเป็นบทความที่น่าสนใจจึงนำไปเผยแพร่ในเวบบอร์ดฟ้าเดียวกัน
(ถ้านำมาลงในบล็อกจะมีปัญหาด้านการตัดคำ จึงเลือกที่ไปไว้ในเวบบอร์ดแทน)