วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2551

แถลงการณ์ประณามการเลือกปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจของกลุ่มแพทย์ฯ

ตามที่มีรายงานข่าวว่ากลุ่มอาจารย์แพทย์ พยาบาล และแพทย์ประจำบ้านของโรงเรียนแพทย์ 8 สถาบัน รวมถึงคณะจิตแพทย์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ได้ประกาศงดการตรวจและรักษาเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเป็นการใช้ “มาตรการทางสังคม” แสดงความไม่เห็นด้วยต่อวิธีการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมานั้น

องค์กรสิทธิมนุษยชนและผู้มีรายนามด้านล่างนี้ ขอประณามการตัดสินใจดังกล่าวเนื่องจากเป็นการขัดหลักสิทธิมนุษยชนและหลักจรรยาบรรณแพทย์อย่างร้ายแรง

การกระทำดังกล่าว ไม่เพียงเป็นการละเมิดหลักจรรยาบรรณแพทย์ที่เน้นประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย เท่านั้น หากยังละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองไว้ในทั้งกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ซึ่งได้ประกันว่าสิทธิในชีวิตและสิทธิในการได้รับการบริการทางสาธารณสุขเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิดังกล่าวนี้อยู่บนพื้นฐานหลักการที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของการใช้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนทั้งปวง คือ หลักการไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าบนพื้นฐานใด ๆ ไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น เผ่าพันธุ์ แห่งชาติ หรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นๆ

และแม้แต่กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Laws) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้กำกับการปฏิบัติของรัฐและผู้เกี่ยวข้องในภาวะสงคราม ที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นรัฐภาคีมาตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2497 นั้น ยังรับประกันสิทธิของผู้ได้รับบาดเจ็บในการได้รับการรักษาและดูแลทางการแพทย์ รวมถึงการได้รับการรักษาจากฝ่ายคู่กรณีของความขัดแย้ง

ด้วยหลักการต่าง ๆ ข้างต้น การปฏิเสธการให้การรักษาแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะในภาวะความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ถูกทำร้ายโดยฝ่ายผู้ชุมนุมเช่นกันนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ การแจ้งว่าตำรวจสามารถรับการรักษาได้หากไม่ได้แต่งชุดเครื่องแบบเจ้าหน้าที่หรือไม่ได้แจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากจะมิไช่เป็นหนทางออกจากสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ยังตอกย้ำการเลือกปฏิบัติ อันจะส่งผลให้ชีวิตและสุขภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีศักดิ์และสิทธิเช่นเดียวกับผู้ป่วยคนอื่นๆตกอยู่ในความเสี่ยงได้

เราจึงขอเรียกร้องดังนี้

1. ให้สถาบันทางการแพทย์ต่าง ๆ เคารพและยึดถือหลักการไม่เลือกปฏิบัติ หลักสิทธิมนุษยชน และจรรยาบรรณแพทย์ ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน และดำเนินมาตรการทางวินัยต่อผู้ที่ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามหลักการดังกล่าว

2. ให้แพทยสภาและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าตรวจสอบและดำเนินการตรวจสอบจริยธรรมและมาตรฐานทางการแพทย์ของกลุ่มแพทย์ดังกล่าวโดยทันที

ด้วยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความแตกต่างของความคิดเห็นทางการเมืองและความรุนแรงที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากนั้น จะไม่ทำให้สังคมไทยละเลยการเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

1 ความคิดเห็น:

Sleepwalker กล่าวว่า...

3 หมอร่วมลงชื่อเพิ่ม ประณามกลุ่มแพทย์เลือกปฏิบัติ
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=14016&Key=HilightNews