วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2551

คนดีที่ก้าวร้าว

เมื่อตอนที่ไปค่ายอาสาฯขณะเป็นนักเรียนแพทย์ เรื่องหนึ่งที่จำได้จนติดใจถึงทุกวันนี้ คือเรื่องคนดีทีก้าวร้าว

พี่ค่ายคนหนึ่งได้พูดเรื่องนี้ในวงประชุมเช้า

ประเด็นคือ ในสังคมปัจจุบันที่มีแต่ความวุ่นวาย แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น คนในสังคมมักไม่กล้าทำความดี และปล่อยให้เรื่องราวต่างๆในสังคมเป็นไปตามทางของมัน พี่ค่ายท่านนั้นจึงอยากเสนอให้พวกเราลองเป็นคนดีที่ก้าวร้าว ในความหมายของพี่คนนั้น คนดีที่ก้าวร้าว คือ คนที่กล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง และมั่นใจในความดีที่ได้กระทำ เพื่อให้สังคมนี้น่าอยู่ และมีสภาพที่ดีขึ้นกว่านี้...

ช่วง 2-3 สัปดาห์ ผู้เขียนย้อนระลึกถึงคำพูดนี้อีกครั้ง เพราะคนดีมัวแต่ไม่กล้า สังคมจึงเป็นแบบนี้ ไม่กล้าที่จะบอกว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก จริงอยู่ที่ว่าสังคมปัจจุบันเป็นสังคมสมัยใหม่ มีความสลับซับซ้อน มีภาพรวมเป็นสีเทา ไม่มีขาว-ดำ แบบสังคมในอดีต ความดี-ชั่วขึ้นกับมุมมอง หรือทัศนคติของคนในสังคม บางคนก็เรียกสังคมยุคปัจจุบันว่า ยุคแห่งความไม่แน่นอน (age of uncertainty)

แต่กับบางเรื่อง ทั้งๆที่คนธรรมดา ไม่จำเป็นต้องเป็นวิญญุชน(รากศัพท์จาก pater familias แปลว่าคนที่มีความดีขนาดเป็นหัวหน้าครอบครัวได้)ก็สามารถบอกได้ ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก เป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐาน คนในสังคมปัจจุบันกลับปล่อยปละละเลย ให้เกิดขึ้นเรื่อยๆเรื่อยๆ ไม่มีใครพูดถึง หรือไม่มีใครลุกขึ้นมาประกาศว่าสิ่งนี้คือความชั่ว จงรังเกียจความชั่วนี้ และอย่าทำมันอีก...

สังคมวันนี้ต้องการคนดีที่ก้าวร้าวจริงๆ...

วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2551

การเรียนครึ่งวัน กับทัศนคติของนักปกครองไทย

ผู้เขียนพึ่งได้ทราบจากน้องชายว่าขณะนี้ นักศึกษาแพทย์ปี 3 มีการจัดตารางสอนแบบใหม่ คือเรียนครึ่งวันเช้า หลังจากนั้นจะหยุดเรียนในช่วงบ่าย เพื่อให้นักศึกษาไปอ่านหนังสือ หรือหาความรู้แบบอื่นๆ แล้ววันถัดไปก็ใช้ความรู้ที่ได้จากการศึกษาด้วยตนเองมาทำ KSA สรุปคือมีการบรรยายน้อยลง มีการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น

แนวความคิดนี้เป็นแนวความคิดที่น่าสนใจ ผู้เขียนรู้สึกเห็นด้วย น่าจะทำให้นักศึกษาแพทย์ผ่อนคลายมากขึ้น เพราะมีการบรรยายน้อยลง อ่านหนังสือมากขึ้น และมีเวลาว่างมากขึ้น

แต่ถ้าผู้เขียนมองในมุมมองแบบนักปกครองไทย ก็คงจะได้แนวความคิดเช่นนี้

"ปล่อยให้นักศึกษาไปอ่านหนังสือเอง! เดี๋ยวพวกเด็กๆก็คงจะเอาเวลาไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า ไม่เป็นโล้เป็นพายหรอก พวกนี้ชอบอยู่แล้ว เรื่องไม่ต้องเข้าเรียนน่ะ คงไม่มีใครมานั่งบ้าอ่านหนังสือเองหรอก เพื่อนๆไปเที่ยวกันหมดแล้วนี่ โอ๊ยการศึกษาแพทยศาสตร์ ล่มจมกันแน่..."

เนื่องจากชนชั้นปกครองของไทยก็มักจะมองประชาชนในลักษณะที่ว่า คนเหล่านี้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม รับเงินจากนักการเมือง คิดถึงแต่การเมืองท้องถิ่น ชอบนโยบายประชานิยม เลือกตั้งจนได้นายกรัฐมนตรีชื่อสมัคร สุนทรเวช ระบอบประชาธิปไตยไม่เหมาะกับคนไทย สิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องของฝรั่ง การปกครองของคนไทยควรต้องมีผู้ชี้นำ การปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจเอง เท่ากับปล่อยประเทศให้ล่มสลาย เป็นภัยต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์...

และเชื่อได้เลย ว่านักศึกษาแพทย์ส่วนหนึ่งย่อมไม่ต้องการวิธีเรียนแบบนี้ เพราะต้องอ่านหนังสือเองเป็นหลัก การให้คนอื่นมาพูดให้ฟังย่อมสะดวกสบายกว่า เหมือนกับอย่างที่คนไทยส่วนหนึ่งต้องการคืนอำนาจให้กับพระมหากษัตริย์ ยกเลิกการปกครองในระบอบประชาธิไตย...

อ้อๆ ลืมไปๆ พวกเราเป็นปัญญาชนนี่ การศึกษาแบบนี้แหละเหมาะสำหรับพวกเราแล้ว เพราะพวกเราไม่ใช่คนธรรมดา พวกเราเป็นผู้มีการศึกษา ย่อมมีความสามารถตัดสินใจ เลือกสิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว พวกเราจะต้องขยันเรียน มุ่งมั่นหาความรู้ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาช่วยประชาชนต่อไป ต่อต่อไป...

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551

รับน้องอีกครั้ง

ตอนนี้ก็ผ่านมาถึงช่วงรับน้องอีกครั้ง
งานรับน้องปีนี้ก็ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หัวสีอีกตามเคย
ลักษณะเดิมๆ ซึ่งก็มักเป็นมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาค
หรือพวกนักเรียนสายอาชีพ

มหาวิทยาลัยของรัฐในกรุงเทพฯไม่มีปัญหารับน้องมาหลายปีแล้ว
ไม่ทราบว่าด้วยกลไกอะไร เข้าใจว่าเป็นเรื่องสถานะของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้นๆด้วยหนึ่ง
และสภาพแวดล้อมของสังคมด้วยอีกหนึ่ง

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะมีคนรู้กี่คนว่าที่เขาพูดต่อๆกันมาว่าประเพณีรับน้องเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานนั้น จริงๆแล้วมีความจริงครึ่งเดียว

ระบบรับน้องมีมานานจริง แต่ไม่ได้อยู่คู่สังคมไทยโดยตลอด เมื่อช่วงปี 2516-2519 ช่วงที่เป็นยุครุ่งเรืองของเสรีภาพ นักศึกษารุ่นน้องหัวก้าวหน้าสามารถต่อสู้ทางอุดมการณ์กับรุ่นพี่ จนทำให้ไม่มีประเพณีรับน้องในหลายมหาวิทยาลัย เพราะพวกเขาเชื่อว่าการรับน้องเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นศักดินาอย่างหนึ่งในสังคม

จนกระทั่งหมดยุคคนเดินตุลา เผด็จการเจริญงอกงามอีกครั้ง ระบบหรือประเพณีรับน้องก็กลับมาใหม่...

หลายครั้งผู้เขียนตั้งคำถามถึงระบบอุปถัมป์ในสังคมไทย (แต่เดิมผู้เขียนมักใช้คำว่าระบบเส้นสาย แต่เนื่องจากเพื่อความทันสมัย เลยใช้คำว่าระบบอุปถัมป์) ว่ามันสิ่งที่ชอบธรรมหรือไม่ สำหรับสังคมสมัยใหม่ที่วัดคุณค่าของคนจากผลงาน จากพฤติกรรมที่แสดงออกระหว่างการทำงาน ไม่ได้วีดจากสถานภาพทางสังคม (หรือชนชั้น)แบบสมัยก่อน....

มีบางคนบอกว่าระบบอุปถัมป์บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายทั้งหมด ผู้เขียนไม่ชอบใจเอาเสียเลย.....

ตอนนี้คนในสังคมเอาคุณธรรม หลักธรรมต่างๆมาปนกันมั่วไปหมด ความกตัญญู การตอบแทนคุณ ความเอื้ออารีจากผู้ใหญ่ให้ผู้น้อย ขยุ้มรวมกันจนได้ระบบอุปถัมป์ขึ้นมา......

วันนี้ง่วงนอนคิดไม่ออกแล้ว....

วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เป็นผู้ใหญ่

เมื่อตอนที่ยังเป็นเด็ก
ผู้เขียนรู้สึกรังเกียจความชั่วทั้งปวง
ทั้งสิ่งที่ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นความชั่วเอง
และสิ่งที่สังคมรอบข้างบอกผู้เขียนว่าสิ่งนั้นๆคือความชั่ว
ผู้เขียนรู้สึกเกลียดระบบเส้นสาย
ผู้เขียนรู้สึกเกลียดการพนัน
ผู้เขียนรู้สึกเกลียดการแบ่งแยกชนชั้น
ผู้เขียนรู้สึกว่าคนที่แกล้งผู้เขียนน่าจะไปตายให้หมด....เพราะมันเป็นคนชั่ว

เปรียบเทียบกับวันนี้
วันที่สังคมบอกว่าระบบเส้นสายบางครั้งก็เป็นเรื่องที่ดี
วันที่หวยบนดินเป็นเรื่องถูกกฎหมาย
วันที่ผู้เขียนรู้สึกดีที่ตัวเองมีอภิสิทธิ์
วันนี้ผู้เขียนรู้สึกเฉยๆกับเรื่องเหล่านี้
เพราะว่ามันคือความจริง
ความจริงของสังคม
สังคมที่ต้องมีทั้ง Hero และ Creep

วันนี้ผู้เขียนเป็นผู้ใหญ่แล้วนี่เอง....