วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ค่ายอาสาพัฒนากับสังคมที่เปลี่ยนไป

ค่ายอาสาพัฒนาเป็นกิจกรรมชมรมคู่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมานาน กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดลเองก็มีอายุถึงสี่ทศวรรษ เป็นกิจกรรมในฝันของหนุ่มสาวที่เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยที่อยากจะมีส่วนร่วม
ในการพัฒนาสังคม เป็นกิจกรรมที่ถูกกล่าวขานตามสื่อต่างๆถึงความดีงามของนักศึกษา
ที่เสียสละแรงกายแรงใจทำค่าย


บทความชิ้นนี้เป็นการรวบรวมความรู้ของผู้เขียนที่มีเกี่ยวกับการดำเนินงานค่ายอาสาฯ
ในประเทศไทย ไม่จำเพาะเจาะจงถึงมหาวิทยาลัยใดโดยเฉพาะ และตั้งคำถามต่อการ
ดำเนินกิจกรรมค่ายอาสาฯในสังคมไทยปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ของค่ายอาสา
ค่ายอาสาฯของมหาวิทยาลัยต่างๆย่อมมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานแตกต่างกัน ขึ้นกับผู้จัดตั้งชมรมอาสาฯนั้นๆ หรือคณะกรรมการดำเนินงานในปีนั้นๆ ซึ่งถ้ากล่าวโดยสรุป วัตถุประสงค์หลักของค่ายอาสาฯจะมีอยู่สองข้อ คือ ๑) พัฒนาตัวนักศึกษาผู้ดำเนินกิจกรรม และ ๒) พัฒนาสังคม (เช่น การสร้างถาวรวัตถุ การพัฒนาสิ่งแวดล้อม) การดำเนินงานค่ายอาสาฯก็จะอิงกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์อื่นๆตามแต่โอกาส เช่น ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ หรือเฉลิมพระเกียรติฯ

ค่ายอาสากับการช่วยเหลือสังคม
ในช่วงแรกของการดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พื้นที่ในชนบทเป็นแหล่งทุรกันดารมาก เนื่องจากรัฐยังกระจายความเจริญไปไม่ถึง ชาวค่ายฯเป็นผู้บุกเบิกความเจริญผ่านทางกิจกรรมของค่ายอาสาฯ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวัตถุ เช่น การสร้างอาคารเรียน หรือทางสังคม เช่น การเดินทางของผู้ว่าราชการจังหวัดไปยังอำเภอนั้นๆเป็นครั้งแรก การสร้างแรงบันดาลใจกับเด็กนักเรียนในพื้นที่ ฯลฯ ซึ่งขณะนี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯได้ดำเนินมาถึงฉบับที่ 10 แล้ว สภาพสังคมชนบทในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมาก คนวัยหนุ่มสาวเข้ามาทำงานในเมือง ความแพร่หลายของโทรศัพท์มือถือ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นโจทย์สำคัญของค่ายอาสาฯในการดำเนินงานต่อไปภายใต้สังคมปัจจุบัน


ค่ายอาสากับการฝึกปฏิบัติงาน
นักศึกษาหลายคนมองว่าการเข้ามาทำงานในกิจกรรมค่ายอาสาฯเป็นโอกาสอันดีในการฝึกปฏิบัติงาน ฝึกกระบวนการคิด การบริหารจัดการ เพื่อประโยชน์ในการทำงานในอนาคต โดยมองการช่วยเหลือสังคมเป็นเรื่องรองลงไป ผู้เขียนมองว่าจุดมุ่งหมายในการทำงานเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่สามารถบังคับได้ แต่มุมมองเหล่านี้ได้ถูกต่อต้านจากอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมค่ายอาสาฯในเวบไซต์แห่งหนึ่ง โดยให้เหตุผลว่านักศึกษาไม่ได้กระทำตนให้เป็นประโยชน์กับสังคมสมกับที่ประชาชนได้จ่ายภาษี และไม่ได้ทำเพื่อมวลชนจริงตามสัญญาประชาคมที่ได้ให้ไว้ ซึ่งเป็นมุมมองที่น่าสนใจ


ปัจจุบันอันโหดร้าย
การดำเนินงานค่ายอาสาในปัจจุบันเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ชีวิตการเป็นนักศึกษามีสิ่งต้องทำเยอะขึ้น เวลาที่นักศึกษาสามารถทุ่มเทกับการทำงานค่ายอาสาฯมีน้อยลง การกระจายอำนาจการปกครองไปยังท้องถิ่น นอกจากนี้ กิจกรรมค่ายอาสาฯยังได้รับเงินสนับสนุนจากทางมหาวิทยาลัยน้อยเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย ทางค่ายอาสาฯต้องดิ้นรนหาเงินทุนจากแหล่งต่างๆมากขึ้น กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อาจจะต้องลดลงเพื่อให้ได้มาซึ่งการหาเงินทุน

การเข้ามาของกลุ่มทุน
เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตามสภาพเศรษฐกิจ ค่ายอาสาฯได้ปรับตัวเปิดรับทุนจากภาคเอกชนมากขึ้น เช่น บริษัทผลิตเครื่องดื่มบำรุงกำลัง บริษัทผลิตวัสดุก่อสร้างที่เปิดใหม่และต้องการทำตลาด เป็นประเด็นที่น่าตั้งคำถามต่อการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชนว่าเป็นการสมควรหรือไม่ เป็นการขัดต่ออุดมการณ์ เป็นการยอมสยบต่อกลุ่มทุน หรือเป็นสถานการณ์ที่ยอมรับได้ คือ ค่ายได้เงิน บริษัทได้รับการประชาสัมพันธ์เชิงบวกกับมวลชน เป็น win-win situation หรือไม่

อนาคต?
โดยภาพรวมค่ายอาสาฯเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์กับทั้งสังคม และนักศึกษาผู้ร่วมกิจกรรม แต่ภายใต้สภาพสังคมปัจจุบัน ค่ายอาสาฯจะดำเนินการต่อไปได้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกในชมรม ช่วยกันแก้โจทย์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และกิจกรรมของค่ายอาสาฯควรมีการปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลง ปรับสภาพให้ยืดหยุ่นไปตามสภาพสังคม แต่ก็ต้องพึงยึดมั่นในวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งค่าย เพื่อไม่ให้ค่ายอาสาฯเสียความเป็นตัวของตัวเองไป สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอฝากข้อความที่อยู่ในใจผู้เขียนเสมอเมื่อนึกถึงค่ายอาสาฯ “ชาวค่ายสร้างโรงเรียน โรงเรียนก็สร้างชาวค่าย”