วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

ทำงานมา 3 ปี

ผู้เขียนเริ่มปฏิบัติงานที่ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑ วันแรกที่มาทำงานยังมีสีทาบ้านติดที่เส้นผม ใบหน้าไหม้เกรียมจากแดดที่ร้อนแรงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเพิ่งกลับจากค่ายอาสา จากวันนั้นก็ผ่านมาสามปีแล้ว เหตุการณ์ต่างๆทั้งในประเทศ โรงพยาบาล และภาควิชา ก็ผ่านไป

ประเทศไทยผ่านการปกครองโดยรัฐบาลสมัคร สมชาย จนมาถึงอภิสิทธิ์ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปทุกปีๆๆ เมื่อผู้คนมีความขัดแย้ง เป็นโอกาสดีที่แพทย์ที่มีความรู้ด้านนิติเวชศาสตร์ จะได้ใช้ความรู้ทางการแพทย์ร่วมแก้ปัญหาของประเทศ ให้ความจริงปรากฏขึ้น เดิมทีแพทย์นิติเวชฯ ก็มีต้นกำเนิดจากการไปเป็นพยานในกระบวนพิจารณาที่กระทำโดยองค์กรตุลาการ (คำว่า forensic มาจากคำว่า forensis, forum ในสมัยโรมันหมายถึงสถานที่ประชุม โดยจะมีการเจรจาต่อรองเกิดขึ้น forensic medicine จึงหมายถึงการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับศาล) แต่ปรากฏว่าแพทย์นิติเวชฯหลายคนก็ไม่พร้อมกับการเข้าไปอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง คนที่ผลั้งเผลอก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือ บางคนก็อยากจะแสดงตัวตนมากเหลือเกิน จนเกินเลยความรู้ทางการแพทย์ ผลก็คือความจริงที่ควรจะปรากฏก็ไม่ปรากฏ ความจริงที่ปรากฏก็ถูกบิดเบือนให้เป็นความจริงอีกอย่าง ไล่ตั้งแต่ เมษายน ๕๒, ๑๐ เมษายน ๕๓, ๑๙ พฤษภาคม ๕๓ ย้อนกลับไปคดีที่เป็นต้นกำเนิดของภาควิชานิติเวชศาสตร์ ก็คือกรณีสวรรคต รัชกาลที่ ๘ ข้อเท็จจริงหลายๆอย่างก็ยังไม่ปรากฏ จนถึงทุกวันนี้

โรงพยาบาลคึกครื้นขึ้นเยอะมาก มีรถบัสเข้ามาโรงพยาบาลทุกวัน เพื่อนำพสกนิกรมาแสดงความจงรักภักดี ในหลวงก็ได้ประทับที่โรงพยาบาลมาเกือบ ๒ ปีแล้ว ทีมงานข่าวสองทุ่มยังคงมาทำข่าวที่โรงพยาบาลทุกวันๆ พ่อค้าแม่ค้ารอบโรงพยาบาลคงรู้สึกปลาบปลื้มใจกับพสกนิกรที่ได้มาลงนามและไปช็อปปิ้งที่ตลาดวังหลังต่อ จนถึงตอนนี้ มาโรงพยาบาลครั้งเดียวแต่ได้ลงนามถวายพระพรถึงสองพระองค์ คือ สมเด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์

อนาคตการทำงานเดิมเหมือนจะชัดเจน แต่สุดท้ายก็ยังไม่แน่นอน เดิมผู้เขียนตั้งใจจะไปศึกษาด้านพยาธิวิทยาต่อหลังจากจบนิติเวชศาสตร์ เพื่อทำงานด้านนิติพยาธิวิทยา ปัจจุบันความคิดที่จะไปเรียนต่อก็ต้องพักไว้ก่อน ด้วยเหตุผลด้านการบริหารจัดการ ไม่เป็นไร ไปเรียนเนติบัณฑิตฆ่าเวลาก่อนก็ได้ จะระวังไม่ฆ่าเวลามากเกินไปนัก เวลามีน้อย

การเรียนภาคบัณฑิตที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ทั้งความบันเทิงและความรู้กับผู้เขียนมากมายนัก นั่งเรียนตอนเย็นทุกวัน วันละสามชั่วโมง เป็นเวลาสามปี ในที่สุด ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็น่าจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเดือนสิงหาคม เนื่องจากเป็นการรับปริญญาครั้งที่สอง ความตื่นเต้นก็น้อยลงเป็นธรรมดา เรื่องดีๆที่ได้จากนิติศาสตร์คือการคิดวิพากษ์แบบถึงราก กฎเกณฑ์หรือหลักการต่างๆที่ดำรงอยู่ควรได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างถึงราก การให้เหตุผลเชิงคุณค่าเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าปัจเจกชนยังอยากใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป ก็ควรที่จะหาเหตุผลประกอบการดำเนินชีวิต ว่าเดินไปทางนี้เพราะอะไร เพื่ออะไร มีทางอื่นให้เดินหรือไม่ การเรียนในสายสังคมศาสตร์ทำให้ผู้เขียนสามารถตั้งคำถามกับข้อความคิดที่เป็นนามธรรมได้มากขึ้น จากเดิมที่เคยตั้งคำถามกับเฉพาะสิ่งที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น กลายเป็นสงสัยไปซะทุกเรื่อง

บางครั้ง ผู้เขียนรู้สึกว่าการเลือกข้างเป็นสิ่งจำเป็น แต่จะแสดงออกหรือไม่ แสดงออกมากหรือน้อย ก็เป็นสิทธิของบุคคลนั้น ขอแค่มีเหตุผลให้กับการเลือก ว่าทำไปเพื่ออะไร เพื่อตัวเอง เพื่อสังคม เพื่อคนที่รักบูชา เพื่อหลักการนามธรรมที่ตนเองต้องการ ถ้ามีเหตุผลประกอบการตัดสินใจ เวลาผ่านไปยังมีโอกาสคิด ว่าตอนนั้นคิดผิดหรือถูก แต่ถ้าอยู่เฉยๆไปวันๆ แม้แต่ยอมรับกับตัวเองว่าทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนก็ยังไม่กล้า ก็เสียดายที่อุตส่าห์เป็นมนุษย์ สิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี

เหลือภาระอีกอย่างเดียว ณ ขณะนี้คือ การสอบเพื่อวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ ที่สนามสอบคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หวังว่าจะสอบผ่าน ได้เป็นหมอนิติเวชฯเต็มๆตัวเสียที

วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2553

สิ่งที่ได้จากค่ายอาสา - ๒

ปีนี้ได้ไปค่ายอาสาน้อยวันมากๆ
ไปแค่สองวันคือวันเสาร์อาทิตย์ที่ไม่ได้อยู่เวร
งานที่ทำก็คืองานปาดปูนตามเดิม
ทั้งๆที่จริงๆแล้วก็ไม่ได้เชี่ยวชาญขนาดนั้น
แต่ ณ ขณะนี้ก็เหลือคนทำเป็นไม่กี่คน......

อาจารย์ที่ปรึกษาท่านหนึ่งเคยให้ความเห็นว่า
การไปค่ายอาสาเป็นการทดสอบสมมติฐาน....
สมมติฐานที่มีอยู่ว่า
นักศึกษาจะสามารถฝึกตนให้เป็นคนที่มีคุณภาพมากขึ้นได้หรือไม่
โดยการทำงานชิ้นหนึ่งให้ประสบความสำเร็จ
คือ การสร้างอาคารเรียนให้กับโรงเรียนแห่งหนึ่ง

ตัวช่วยที่ใช้ในการฝึกฝนตัวหนึ่ง
คือ กฎค่าย
กฎค่ายของค่ายอาสานั้นมีสภาพไม่เหมือนกฎหมาย
เป็นเพียงกฎเกณฑ์ที่ไม่มี"สภาพบังคับ"
เป็นการกำหนดให้ชาวค่ายทำหรือไม่ทำบางอย่าง
แต่ก็ไม่ได้กำหนดบทลงโทษเอาไว้
ว่าถ้าไม่ทำตาม ผลจะเป็นอย่างไร

มาตรการที่ดูเหมือนจะเป็นบทลงโทษอย่างเดียว
ก็คือ การเชิญออกจากค่าย (ให้กลับบ้าน)
แต่ในความเป็นจริงกฎเกณฑ์ที่มีลักษณะเป็นบทลงโทษข้อนี้
ก็ไม่มีการใช้อย่างจริงจังหรือเป็นกิจลักษณะ

เคยมีการยกประเด็นนี้ขึ้นสอบถามในที่ประชุม
ว่าการที่กฎค่ายไม่ได้กำหนดบทลงโทษไว้
ทำให้กฎค่ายนั้นมีสภาวะที่"เป็นหมัน"
คือ มีก็เหมือนไม่มี ไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามนั้นได้...

ทำไมกฎค่ายจึงไม่มีบทลงโทษ ?

เหตุผล คือ กลุ่มอาสาฯเชื่อในความเป็นมนุษย์
มนุษย์ที่อยู่รวมกันเป็นสังคม
ย่อมต้องมีการกำหนดข้อตกลงบางอย่างขึ้นมา
เพื่อประโยชน์ในการใช้ชีวิตของแต่ละคน

ตกลงกันว่าจะรับประทานอาหารในเวลา 7.00, 12.00 และ 18.00
เพื่อให้ทุกคนได้ข้าว
ตกลงกันว่าจะใช้น้ำอย่างจำกัด
เพื่อให้ทุกคนมีน้ำใช้
ตกลงกันว่าจะไม่ออกไปนอกค่าย
เพื่อความปลอดภัย

กฎเกณฑ์แต่ข้อ มีเหตุผลในการดำรงคงอยู่ของมัน
มนุษย์สามารถรับรู้เหตุผล สามารถเข้าถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์
เล็งเห็นได้ว่าการปฏิบัติตามย่อมได้ประโยชน์
จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่จะมากำหนดสภาพบังคับ
บังคับให้ชาวค่ายต้องปฏิบัติตามกฎนั้นๆ

การกำหนดให้ชาวค่ายต้องปฏิบัติตามกฎค่าย
ทั้งๆที่กฎค่ายก็ไม่ได้กำหนดบทลงโทษ
เป็นการฝึกฝนชาวค่ายทำตามกฎเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
ไม่ใช่ทำตามกฎเพียงเพราะว่ามันเป็นกฎ....

เพื่อให้การฝึกฝนดังกล่าวบรรลุผล
กฎค่ายจึงต้องมีลักษณะ
๑ สามารถปฏิบัติตามได้โดยไม่ลำบาก
๒ มีเหตุผลมารับรองประโยชน์ที่ได้จากการทำตาม
๓ กรรมการค่ายเข้าใจและยอมรับกฎข้อนั้น สามารถอธิบายเนื้อหาสาระของกฎนั้นให้ชาวค่ายใหม่เข้าใจได้

ข้อความคิดว่าด้วยกฎค่าย
ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสาฯมาหลายปี.....

วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สิ่งที่ได้จากค่ายอาสา - ๑

เดือนหน้ากิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยมหิดลก็จะเริ่มขึ้น
ปีนี้เป็นค่ายที่ ๔๒ ซึ่งจะจัดขึ้นที่โรงเรียนบ้านนาทม อ.กุดชุม จ.ยโสธร
ส่วนพรุ่งนี้ก็จะเป็นวันที่น้องนักศึกษาบางส่วนก็จะเริ่มออกเดินทางไปเตรียมค่าย
คิดแล้วก็เหงื่อแตก รู้สึกร้อนแทน......

กิจกรรมค่ายอาสาฯเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อชีวิตผู้เขียนมาก
เป็นสิ่งหนึ่งในชีวิตที่มีส่วนหล่อหลอมบุคคลิกผู้ป่วยให้เป็นอย่างทุกวันนี้
แนวความคิดหลายๆอย่างของผู้เขียนก็ได้มาจากค่ายอาสาฯ

เรื่องหนึ่งคือคุณธรรมแห่งการวิพากษ์วิจารณ์...

ผู้เขียนเคยเป็นกรรมการค่ายอยู่ ๓ ครั้ง
ขึ้นชื่อว่าเป็นกรรมการ ก็ต้อง "ประชุม"
ประชุมชี้แจง ประชุมตามงาน ประชุมเตรียมงาน
ทุกสัปดาห์

การประชุมแต่ละครั้งเป็นการทดสอบกำลังใจและกำลังกายของกรรมการค่ายที่เข้มข้นอย่างมาก
คำถามจะถูกตั้งขึ้นมาในแต่ละประเด็นที่ได้พูดคุยกัน
ทั้งจากกรรมการด้วยกันเอง
จากกรรมการที่เป็นรุ่นพี่
และจากรุ่นพี่ที่มาเข้าร่วมประชุมในฐานะพี่ค่าย

ต่อให้ทำดีอย่างไร รู้สึกว่าทำดี หรือผลออกมาดีอย่างไร
กรรมการก็ต้องถูกถามถึงเหตุผลในการตัดสินใจกระทำสิ่งหนึ่งๆ
หรือกำลังจะทำสิ่งหนึ่ง
เหตุผลในการเลือกว่าวิธีนั้นได้ผลจริงหรือ
วิธีนั้นเป็นวิธีเดียวที่มีจริงๆหรือ คิดครบถ้วนหรือยัง
และวิธีนั้นคุ้มที่จะทำแล้วจริงๆหรือ.....
(มีใครคุ้นๆมั้ย)

นอกจากนี้ คนทำดีก็ต้องถูกตรวจสอบได้
คำพูดที่ว่า "ผมทำดีแล้ว พี่จะเอาอะไรอีก" ไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวค่าย
(แต่คนพูดก็ไม่มีใครทอดทิ้งนะ คุยกันนอกรอบได้......)
ต่อให้คุณเป็นคนดี ทำดีมาขนาดไหน ก็ต้องทำใจยอมรับ
ว่าการกระทำทุกอย่างในค่ายมันต้องมีคำตอบ ให้กับคนที่อยากรู้
การดำเนินการต้องมีเหตุผลเพียงพอ
เพราะเงินที่ได้มาจากสังคม ที่คาดหวังให้เงินนักศึกษาเพื่อพัฒนานักศึกษา
ถ้าทำค่ายแล้วทำงานเหมือนๆเดิม ก็น่าคิดว่าสังคมจะได้อะไรเพิ่มหรือไม่จากการทำค่ายฯ

ดุเดือด ถึงใจ
ได้รับแนวคิดเรื่องคุณธรรมแห่งการวิพากษ์วิจารณ์จากการประชุมค่ายอาสาฯนี่แหละ

วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ตอนนี้เป็นหมออยู่

นั่งอยู่ดีๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า....
ตอนนี้เป็นหมออยู่........

ตั้งแต่อนุบาล ประถมจนถึงมัธยม....
นึกไม่ออกว่าช่วงชีวิตที่ไม่ได้เรียนหนังสือจะเป็นอย่างไร
ยิ่งมาเลือกเรียนคณะแพทยศาสตร์
เรียนยาวอีก ๖ ปี
จนตอนนี้ก็ยังเรียนอยู่
เรียนทั้งนิติเวชศาสตร์และนิติศาสตร์
และมีแนวโน้มว่าต้องเรียนต่อ......

พอนึกขึ้นมาได้
ว่าตอนนี้ทำงานและมีเงินเดือน
ก็รู้สึกแปลกๆขึ้นมาทันที.....

แต่อย่างไรก็ดี
ก็ยังคิดว่าตัวเองโชคดี
ที่ได้ทำตามฝันของตัวเอง
เพราะมีอีกหลายคนไม่มีโอกาสแม้แต่จะฝัน......

งานหนักแค่ไหน ก็ท่องไว้ในใจ
Autopsy สนุกที่สุด......

วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ศัตรูร่วม

เมื่อได้ติดตามข่าวสารต่างๆเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของอดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เขียนก็เกิดความคิดขึ้นมาอย่างหนึ่ง

เมื่อใดที่ต้องการความสามัคคีจากคนกลุ่มหนึ่ง
ให้หาศัตรูมาให้พวกเขามีร่วมกันหนึ่งคน
พวกคนเหล่านี้จะมีความสามัคคีขึ้นมาอย่างแน่นแฟ้น
คนที่เคยเกลียดกันก็ยอมมาร่วมมือกัน
เพื่อกำจัดศัตรูร่วมคนนี้

ประเด็นที่ได้ผลอยู่เสมอๆก็คือศัตรูของชาติ
อย่างเช่นในขณะนี้ ทักษิณก็เป็นศัตรูร่วมของคนในชาติจำนวนหนึ่ง
เป็นผู้ทรยศต่อชาติ ไม่รักชาติ
เหมือนอย่างเช่นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือพม่าในอดืต

เนื่องจากในประเทศไทยยังมีคนเป็นกลางอีกจำนวนหนึ่ง
การเอาบุคคลคนเดียวมาเป็นศัตรู ดูไม่สมเหตุสมผลในสายตาคนเป็นกลางเหล่านี้
รัฐบาลก็ต้องขยายผล
ให้ประเทศกัมพูชามาเป็นศัตรูร่วมของคนไทยทั้งหลายอีก
อาศัยความรู้สึกที่"เหนือกว่า"ของประเทศไทย
เป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลได้เสียงสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น
ถ้าผลเอแบคโพลสามารถเชื่อได้ ก็แสดงว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในการสร้างศัตรูร่วม

เปรียบเทียบกับวงการอื่น
การแข่งกีฬา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคี
แต่มองในอีกมุมหนึ่ง
ลักษณะก็คล้ายกัน คือหาศัตรูร่วมมาให้
สมาชิกภายในสังกัดนั้นๆ ก็เกิดความสามัคคีกันขึ้นมา
เพื่อหาทางเอาชนะศัตรูให้ได้

ในวงการแพทย์ ศัตรูร่วมของแพทย์ ก็คือ
บรรดาคนไข้ขี้ฟ้องทั้งหลาย
ที่บังอาจมาคุกคามเสถียรภาพของวิชาชีพ
กลุ่มแพทย์ที่อยากหาเสียงในวงการแพทย์
ก็ต้องสร้างศัตรูร่วมให้เป็นรูปเป็นร่าง
เกิดความรู้สึกว่า"มีอยู่จริง"
บรรดาแพทย์ทั้งหลายที่มีอีโก้ในตัวเองสูงส่ง
ก็จะรวมตัวเข้ากัน สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร
ต่อกรกับศัตรูร่วม (ที่ถูกสร้างขึ้นโดย....?)

ความสามัคคีที่เกิดจากศัตรูร่วม จะหายไปเมื่อศัตรูร่วมหายไป
ดังนั้นเพื่อให้คึวามสามัคคีนี้คงอยู่
ก็ต้องหาศัตรูร่วมมาใหม่เรื่อยๆ
ระวังอย่าไปเป็นศัตรูร่วมของใครก็แล้วกัน

วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2552

บริบทของสังคมไทย?

ถ้าหากว่าคุณเถียงใครไม่ได้ทุกวันนี้
คำตอบไม้ตายอย่างหนึ่งคือ
"ที่คุณพูดมันก็ถูก
แต่....มันก็ต้องดูบริบทของสังคมไทยด้วย
เอาแนวคิดฝรั่ง (หรือตะวันตก หรือคนอื่น) มาใช้
มันไม่ได้ผลหรอก...."

อาจให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าที่มันไม่ได้ผล
เพราะคนไทยมัน"ห่วย"

ผู้เขียนรู้สึกสงสัยเป็นอย่างยิ่ง
ว่าบริบทของสังคมไทยมันคืออะไรกันแน่ ?
บางคนอาจใช้คำง่ายๆว่า "ไทยๆ"
บางคนใช้คำว่า "วัฒนธรรมไทย"
บางคนที่อยากให้ดูดีก็ใช้คำว่า "วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม"

เป็นกับทุกวงการ
ที่ผู้เขียนเจอกับตัวก็คือ
เรื่องการแพทย์และกฎหมาย
เรื่องกฎหมายก็พบเห็นได้ทั่วไปอยู่แล้ว ตามสื่อต่างๆ
และในห้องเรียน.....

ในวงการแพทย์
ผู้เขียนได้ยินมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา
แนวความคิดที่ว่า
บางทีการแพทย์แผนตะวันตกอาจไม่เหมาะกับคนไทย
เพราะมันไม่อบอุ่น...
หรือ
ผู้ป่วยชาวไทยไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะตัดสินใจได้เอง
(ไม่ค่อยเชื่อในหลัก autonomy หรือ self-determination)
ประมาณ พอๆกับเชื่อเรื่องชาวบ้านซื้อได้ด้วยการซื้อเสียง

บริบทของสังคมไทยเท่าที่ผู้เขียนสังเกตได้
คือการแสดงออกในลักษณะแนวความคิดอำนาจนิยม
เอาอำนาจเป็นใหญ่
แลความไม่เชื่อในสามัญชน ประเทศชาติจะเจริญได้
ก็ด้วยแต่ชนชั้นนำที่มีคุณภาพจึงจะนำพาชาติไปได้

เข้าใจว่านี่แหละคือบริบทสังคมไทยที่แท้จริง...

วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

หากินกับความขี้เกียจ

ความขี้เกียจสามารถเป็นช่องทางทำมาหากินให้กับใครก็ได้
เพราะความขี้เกียจเป็นสิ่งที่มีติดตัวมนุษย์ทุกคน
มากบ้างน้อยบ้าง
เป็นพิษบ้าง ช่วยให้สบายบ้าง

ตัวอย่างสิ่งที่หากินกับความขี้เกียจอย่างแรกคือ
ศูนย์สุขภาพที่โฆษณาว่า
สามารถลดน้ำหนักได้โดยไม่ต้องออกกำลังกาย
จะเห็นว่า คำโฆษณาดังกล่าวฝืนความรู้สึกอยู่ในที่
ถ้าได้เรียนสปช. นักเรียนก็ย่อมต้องรู้ว่า
การจะมีสุขภาพดีได้ก็ต้องออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
แต่คนในสังคมปัจจุบัน
ขี้เกียจออกกำลังกาย
แต่ก็ยังอยากรักษาสุขภาพ
การลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนโดยไม่ต้องออกกำลังกาย
ทำให้ฝันของพวกเขาเป็นจริง
ไม่ต้องเสียเวลาออกกำลังกายอาทิตย์ละ 3 วัน วันละครึ่งชั่วโมง
ก็สามารถผอม หุ่นดีได้ !
ฝันที่เป็นจริงของคนขี้เกียจ (ที่มีเงิน)

ต่อมาคือ การกินนมหรืออาหารเสริมทำให้เด็กฉลาด
โดยไม่ต้องกินข้าวหรืออ่านหนังสือ
สุดยอด ! นั่งกินนอนกินนมอัจฉริยะไปวันๆ
ก็ทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จได้
เพราะสมัยนี้ พัฒนาการตามวัยมันไม่ทันชาวบ้านเขาเสียแล้ว
ต้องเป็นที่หนึ่ง เป็นที่หนึ่งในทุกๆด้าน
ถ้าไม่อยากใช้ยาเสพติด ก็ต้องนมอัจฉริยะนี่แหละ
ฝันที่เป็นจริงของพ่อแม่ขี้เกียจหาข้าวให้ลูกกิน

ล่าสุด
หนังสือเบสท์เซลเลอร์
ยังไม่ได้อ่าน แต่ได้ข่าวมาว่า เพียงแค่คุณจินตนาการ
วาดฝันว่าคุณทำได้ คุณก็จะประสบความเร็จในชีวิต
สุดยอดที่สุด ไม่ต้องทำอะไร
นั่งคิดไปวันๆ ว่าฉันจะรวย ฉันจะใหญ่โต
ฝันก็เป็นจริงได้

หากินกับความขี้เกียจกันเถอะ...